ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 

ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับประเทศ รวมถึงปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความท้าทายต่อระบบการผลิตมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมต่อทุกสภาวะการณ์ ทั้งโอกาสที่เข้ามาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค และความท้าทายซึ่งรวมถึงวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่สงครามสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้คือ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งฟังก์ชันการทำงาน การประหยัดพลังงาน และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือเวลาการเข้าสู่ตลาด (Time to market) ของสินค้าอุตสาหกรรมจะสั้นลงมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการผลิตสินค้านั้นๆจำเป็นต้องมีความเที่ยงตรงแม่นยำ (High precision)สูง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องจักรและเทคโนโลยีรวมไปถึงกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและบุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก็จะผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าสู่โรงงานสีเขียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่จะต้องกระชับระบบการผลิต (Streamline) ของตน เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิต (Manufacturing capabilities) ให้เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างองค์กรให้มีความกะทัดรัดยืดหยุ่น ทันสมัย และพร้อมในการแข่งขัน

การลดต้นทุนการผลิต

การลดต้นทุนการผลิต เป็นงานที่สามารถหาทางดำเนินการได้ตลอดเวลา แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงสิ่งนี้เมื่อเกิดปัญหาหรือวิกฤติเท่านั้น การลดต้นทุนในสถานประกอบการผลิต สามารถทำได้ในสองแนวทางหลักๆ คือ ลดการสูญเสียทรัพยากร และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสูญเสียทรัพยากรในองค์กร ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบ เครื่องจักรเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงและเป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนหรือแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้นควรใช้หรือเปลี่ยนเครื่องจักรให้เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงมาแทนเครื่องจักรเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ และควรปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนให้สามารถใช้ประโยชน์เครื่องจักร (Utilization) สูงสุดและให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยทำการตรวจสอบทั้งกระบวนการและชิ้นงานที่ผลิตจากกระบวนการนั้น โดยทั่วไปจะใช้เครื่องมือทางด้านสถิติ หรือ SPC เป็นตัวตรวจจับปัญหา (ความบกพร่องหรือ Defect) รวมทั้งใช้เครื่องมือนี้ในการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ (Cpk) สิ่งสำคัญที่โรงงานสมัยใหม่ต้องคำนึงคือการมีเครื่องจักรที่มีความสามารถในการผลิตที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ผู้ผลิตหลายรายที่สูญเสียโอกาสรับงานใหม่ที่มีข้อกำหนดหรือสเปค เนื่องจากเครื่องจักรของตนไม่สามารถผลิตชิ้นงานที่มีค่าความคลาดเคลื่อนต่ำตามที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้โรงงานควรจัดทำแผนการบำรุงรักษาที่ดี รวมทั้งจัดทำสำรองอะไหล่ต่างๆ เพื่อให้เครื่องหยุดเพื่อซ่อมบำรุงโดยใช้ระยะเวลาน้อยที่สุดสำหรับการลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบ โดยทั่วไปการสูญเสียจะเกิดจากการผลิตงานผิดหรือไม่ได้สเปค ส่วนการสูญเสียของวัตถุดิบก็มักเกิดจากการจัดซื้อที่ไม่ถูกต้องไม่ได้คุณภาพเช่นวัตถุดิบที่มีอายุใช้งาน (Shelf life) สั้นหรือหมดอายุ (Expired) หลักการแก้ไขจะต้องทำการประชุมและตัดสินใจเพื่อจัดการ (Disposition) ในทันทีอาจต่อรองกับลูกค้า หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือการทิ้ง (Scrap) และจำหน่ายในรูปขยะ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรีบประชุมเพื่อตัดสินใจเพราะยิ่งปล่อยไว้ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบจะยิ่งเสื่อมราคาเปลืองพื้นที่จัดเก็บรวมทั้งทำให้มูลค่าทางบัญชีของบริษัทไม่ตรงกับมูลค่าที่แท้จริงวิธีการหนึ่งที่จะสามารถป้องกันไม่ให้สินค้าหรือวัตถุดิบถูกละเลยคือการแบ่งพื้นที่เก็บตามระดับมูลค่า เช่น พื้นที่เก็บ High valued items หรือการใช้สติกเกอร์สีแยกระบุสินค้าที่มีราคาสูงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมาตรการหรือข้อกำหนดใหม่ที่ผู้ผลิตทุกรายไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากมันมีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมด้วยจนองค์กรที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่าง ISO ก็ออกมาตรฐาน ISO 5001สำหรับให้สถานประกอบการทำระบบการจัดการด้านพลังงาน (Energy Management Systems)หรือหน่วยงานรัฐในประเทศพัฒนาแล้ว ได้ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฏหมาย The Law of Clean Energy: Efficiency and Renewable ว่าด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก

สำหรับแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสามารถทำได้เช่น

1) การปรับปรุงขบวนการผลิตเดิมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือทำให้การสูญเสียต่างๆ ลดน้อยลง ตัวอย่างเช่นการนำความร้อนปล่อยทิ้ง กลับมาใช้ใหม่

2) การเพิ่มอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้มีการใช้พลังงานต่ำ

3)การบำรุงรักษาและการดูแลเบื้องต้นเป็นการปรับแต่งเครื่องจักรและการทำงานต่างๆ เช่น การหุ้มฉนวนท่อความร้อน การปรับอัตราส่วนการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ การเปลี่ยนระบบแสงสว่างเป็นหลอดประหยัดพลังงาน หรือหลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น

ระบบอัตโนมัติกับกระบวนการผลิต

ระบบอัตโนมัติช่วยให้กระบวนการผลิตมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานของคนรวมทั้งลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวอีกด้วย เมื่อเรานึกถึงระบบอัตโนมัติ หลายคนจะคิดถึงหุ่นยนต์ แต่ความจริงระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตนั้น มีหลายอย่างตั้งแต่ระบบง่ายๆ เช่น ระบบสายพานสำหรับช่วยเคลื่อนย้ายชิ้นงาน ระบบนิวแมติกส์ เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ (Auto–ID) เทคโนโลยอาร์เอฟไอดี (RFID) ที่ได้ถูกนํามาประยุกต์ใช้งานในหลายๆ ด้าน เช่น โลจิสติกส์ ระบบคลังสินค้า และสายการผลิตในโรงงาน เป็นต้น เพื่อใช้แสดงตัวตนของสินค้าและวัตถุดิบในกระบวนการผลิตไปจนถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง โดยทั่วไปเราจะนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการต่างๆ คือ ใช้ร่วมกับเครื่องจักร เช่น ระบบพาเลตสำหรับโหลดชิ้นงาน ใช้ในการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายชิ้นงานหรือวัตถุดิบระหว่างเครื่องจักรหรือระหว่างกระบวนการ ใช้การประกอบชิ้นงาน (Assembly) และใช้สำหรับระบบการตรวจคุณภาพอัตโนมัติ การเลือกใช้ระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตจึงมีความสำคัญ โดยทั่วไปจะคำนึงถึงการพิจารณาเลือกระบบอัตโนมัตินำมาใช้ คือระบบขับเคลื่อน (Actuator) ที่ต้องการว่าเป็นการเคลื่อนที่เชิงเส้น หรือการหมุน ประการที่สองคือ ระบบการวัดหรือการตรวจจับข้อมูล (Measuring Devices & Sensors)เช่น เซ็นเซอร์สำหรับวัดอุณภูมิ วัดแสง หรือวัดกระแสไฟฟ้าเป็นต้น ประการที่สามคือระบบควบคุม (Control) อาจเป็น Logic control หรือ Numerical control ตัวอย่างระบบอัตโนมัติ ที่นิยมใช้กันมากเช่น เทคโนโลยอาร์เอฟไอดี (RFID)ในการตรวจบาร์โค้ดหรือลาเบล หรือการใช้เทคโนโลยีการภ่ายภาพความเร็วสูงในการตรวจจับความบกพร่องชิ้นงาน นอกจากนี้ ในอุปกรณ์หรือเครื่องมือวัดที่ทันสมัยมักจะมีฟังก์ชันอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้การนำระบบอัตโนมัติมาเพิ่มความสามารถและศักยภาพสำหรับธุรกิจ SME เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ในประเทศตะวันตกที่หันกลับมาส่งเสริมการผลิตในประเทศเช่นอเมริกาหรือยุโรป จะให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยภาครัฐก็ได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือด้านนี้ เช่น ห้องปฏิบัติการอัตโนมัติและแมคคาโทรนิกส์ (Automation and Mechatronics Laboratory) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ

ข้อมูลการผลิตแม่นยำด้วย MRP/ERP

ERP (Enterprise Resource Planning) คือ ซอฟแวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม โดยใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน(Common Database) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดในการจัดการและวางแผนการงานต่างๆ ขององค์กร โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ขององค์กรทุกอย่างเข้าด้วยกันทำให้มีประสิทธิภาพ โดยแต่ละส่วนสามารถดึงข้อมูลส่วนกลางที่ตัวเองสนใจมาวิเคราะห์ ได้ และสามารถที่จะบูรณาการ (Integrate) ได้หมดไม่ว่าจะเป็นการขาย การผลิต การบัญชี การบริหารสต๊อกตลอดจนการจัดการซัพพลายเชน เช่นระบบรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าซึ่งโดยปกติจะเริ่มในรูปแบบของเอกสารที่เดินทางจากแผนกหนึ่งไปอีกแผนกหนึ่งหรือไปจนทั่วโรงงาน ตลอดเส้นทางดังกล่าวมักจะต้องมีการพิมพ์ข้อมูล และคีย์ข้อมูลซ้ำลงในระบบคอมพิวเตอร์ของแผนกนั้นๆ รูปแบบดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้า มีโอกาสสูญหายของใบสั่งงานต่างๆ และการพิมพ์ข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดสูง ในขณะเดียวกัน ไม่มีใครในโรงงานรู้ถึงสถานะที่แท้จริงของสินค้าว่าอยู่ในขั้นตอนใด เช่น ฝ่ายขายจะไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ตามใบคำสั่งซื้อจากลูกค้าจะเสร็จแน่นอนเมื่อไหร่ ทำให้มีผลต่อกำหนดเวลาส่งมอบของให้ลูกค้า การจะทราบข้อมูลแต่ละครั้งต้องจัดการประชุมหรือสรุปการผลิตซึ่งนอกจากข้อมูลที่แต่ละแผนกรวบรวมกันมาก็อาจไม่ถูกต้องแล้วยังเป็นการสิ้นเปลืองเวลาการทำงานของบุคลากรเป็นอย่างมากปัจจุบัน ERP ได้รับการออกแบบมาบนพื้นฐานของวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมนั้นๆ (Best Practice) มีการกำหนดโมดูลของกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้แต่ละหน่วยธุรกิจเป็นทั้งผู้รับข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล ERP สำหรับโรงงานการผลิต ผู้บริหารและพนักงานระดับหัวหน้างานทุกคนจะสามารถทราบข้อมูลการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนการผลิตอย่างถูกต้องและทันสมัยเสมอ นอกจากนี้บางซอฟแวร์ยังได้รวมเอาฟังก์ชันการบริหารระบบคุณภาพไว้ด้วย เช่นระบบ ISO หรือ SPC ช่วยให้ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพสามารถรู้และติดตามความคืบหน้าของระบบได้ สำหรับผู้บริหารยังสามารถทราบข้อมูลทางบัญชีของทรัพย์สินทั้งหมด ทำให้มีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจดำเนินการทางธุรกิจ ซอฟแวร์ ERP ในปัจจุบันสามารถผลิตได้ด้วยคนไทยและราคาที่ไม่แพงจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรพิจารณานำมาใช้

ศักยภาพบุคลากรศักยภาพองค์กร

องค์กรจะประสบความสำเร็จได้จะต้องขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ หมายถึง องค์กรจะต้องตอบโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในสามด้านคือ หนึ่งทำอย่างไรให้พนักงานสามารถตอบสนองเป้าหมายขององค์กร โดยการสร้างเป้าหมายร่วมกัน (Shared goal) และสร้างระบบแรงจูงใจที่สอดคล้องกัน (Aligned interest / Motivation) สอง องค์กรจะช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงานได้อย่างไร สาม องค์กรจะมองเห็นคุณค่าของพนักงานที่มีศักยภาพเพื่อให้เติบโตในสายงานได้อย่างไร เพื่อรักษาพนักงานที่ดีในระยะยาว สร้างความก้าวหน้าให้องค์กรอย่างต่อเนื่องนอกจากค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแล้ว วัฒนธรรมองค์กรที่ให้โอกาสในการแสดงความสามารถ (Empowerment) การทำงานเป็นทีม และการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการพัฒนาทักษะความสามารถ (Competency) ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเกิดความคิดใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาวิธีการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะสร้างทัศนคติให้รักองค์กรมากขึ้นแล้ว พบว่ากิจกรรมหรือโครงการที่ได้รับความร่วมมือและประสบความสำเร็จในองค์กรการผลิต มักจะเกิดจากไอเดียหรือความคิดริเริ่มจากพนักงานมากกว่าที่จะเป็นการสั่งการจากผู้บริหารลงมา แต่แน่นอนว่าผู้บริหารจะต้องพร้อมในการให้ความสนับสนุนและคำแนะนำ

สรุป การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC รวมทั้งการเปลี่ยนกลยุทธ์การ Outsource ของบริษัทข้ามชาติ ที่หันมาให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของซัพพลายเชนของชิ้นส่วนและวัตถุดิบของตน จึงหันมาให้ความสำคัญต่อซัพพลายเออร์ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ อาหาร และอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การเพิ่มความสามารถในการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต จะทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับทุกสภาพการณ์ ทั้งโอกาสและความท้าทายกระแสโลกาภิวัตน์และความต้องการที่เข้มงวดมากขึ้นของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนำมาซึ่งความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น ความท้าทายสำหรับบางคนอาจหมายถึงอุปสรรค์และปัญหามากมาย แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและเข้าใจความต้องการของลูกค้า ความท้าทายย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตขององค์กร

Sumipol-Automation-Solution