นโยบาย “ประเทศไทย 4.0”

เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนหัวจักรสำคัญภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมสู่ความเป็นเทคโนโลยี 4.0 พร้อมกันไปด้วย วัตถุประสงค์ในการผลักดันประเทศไทย 4.0 คือ การพยายามให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเพื่อก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ณ ปัจจุบันเรายังอยู่ในยุคประเทศไทย 2.0-3.0 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรมไทยส่งขายทั่วทิศ โดยสร้างอุตสาหกรรมต้นน้ำจากการนำทรัพยากรภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้ไทยขยับตัวเป็นฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมและส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และอาหาร แต่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มชะลอตัวลง ตั้งแต่ประเทศจีนมีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้จีนกลายเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ขนาดมหึมา เฉพาะแค่ภายในประเทศก็มีตลาดขนาดใหญ่มากอยู่แล้วยังมีการส่งออกสินค้าราคาต่ำสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ ประกอบกับไทยมีปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันด้วยวิธีแบบเดิมได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โดย มุ่งสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ที่ตนให้ชื่อว่า “ยุคพัฒนาเศรษฐกิจให้เรืองรองด้วยสมองของคนไทย” เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ

นำเทคโนโลยียกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม นายเจนกล่าวว่า “เราเล็งเห็นว่าวัตถุดิบที่ดีที่สุดและสามารถทำให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ คือการปรับกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมด้วยศักยภาพของคนไทยเอง เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อให้เกิดภาวะความสมดุลทางเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อภายในประเทศมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกและนำเข้ำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากจนเกินไป”

อุตสาหกรรม 4.0 คือ ทางออก จุดแข็งของประเทศไทยคือการมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่มีความแข็งแกร่งมาช้านาน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมจะพบปัญหาสำคัญนั่นคือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค ที่มีทักษะเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยติดอยู่กับสภาวะ “Medium Income Trap” และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศเกาหลี ญี่ปุ่นได้ การผลิตทั่วไปก็เริ่มประสบปัญหาด้านต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการนำรูปแบบการพัฒนาของประเทศเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จจากการแก้ปัญหาภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน โดยอาศัยทิศทางของอุตสาหกรรม 4.0 นั่นคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดยเร็ว นายเจนกล่าวเสริมในส่วนของระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยว่า “จะพบว่าผู้ผลิตอยู่ในระดับ 2.0-2.5 มากถึง 70% จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับอุตสาหกรรมไปถึง 3.0 ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่แต่มีจำนวนน้อยซึ่งอยู่ในระดับ 3.0 ก็จะต้องพัฒนาต่อโดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาควบคุมการผลิตทั้งระบบให้เดินหน้าสู่ 4.0 ต่อไป ซึ่งคงใช้ระยะเวลาตามลำดับเฟสละ 5 ปี” การจะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว

“EEC” สปริงบอร์ดการลงทุนของประเทศผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการเมกกะโปรเจค EEC ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2560 ถือเป็นแม่เหล็กในการขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย 4.0 อย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ครั้งใหญ่ทุกด้าน ทั้งการเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ขยายสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก สร้างเมืองใหม่หลายแห่ง ตลอดจนศูนย์ดิจิทัลและอื่นๆ ซึ่งพลิกโฉมทำให้ภาคตะวันออกกลายเป็นศูนย์แห่งการลงทุนของภูมิภาคยากที่นักลงทุนจะมองข้าม โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ทั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น S Curve อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อากาศยานและศูนย์ซ่อม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ล้วนเป็นผลทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดจุดแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน (Support Industry) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาความเป็นประเทศไทย 4.0 พร้อมกันไปด้วย และเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยตามที่คาดหวัง

เร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ในการพัฒนาขีดความสามารถให้กับบุคลากรดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐและภาคเอกชนต่างเห็นความสำคัญเป็นอย่างดีโดยเฉพาะทักษะด้านอุตสาหกรรม ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน และองค์กรต่างๆ ร่วมกันหาวิธีในการพัฒนา ขีดความสามารถให้กับบุคลากร ซึ่งนายเจนกล่าวว่า เราต้องเร่งพัฒนา 3 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มผู้พัฒนาเครื่องจักรกล
2. System integrator (SI) คือ ผู้พัฒนาระบบเชื่อมต่อเครื่องจักรกลและออโตเมชั่นเข้าด้วยกัน ใน 2 กลุ่มนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก และไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ จำเป็นต้องอาศัยผู้ชำนาญการจากต่างประเทศเข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำงานร่วมกัน
3. Maintenance ก็ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนากลุ่มบุคลากรที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มความสามารถที่มีอยู่ให้สูงขึ้น ซึ่งในกลุ่มนี้ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีโครงการต่างๆ รองรับอยู่พอสมควร โดยทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะให้ความร่วมมือสนับสนุนและเน้นสร้างบุคลากรให้ตรงวัตถุประสงค์และความต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม

รวมพลังทุกภาคส่วน การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับทุกหน่วยงานโดยผนึกพลังเข้าด้วยกัน “สภาอุตสาหกรรมมีจุดเด่นตรงที่มีฐานสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 3.0 กว่า 100 รายครอบคลุมในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา เช่น เยอรมนีและไต้หวัน จะมีการเสนอกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสามารถนำไปขยายผลให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่อไป เรื่องนี้จำเป็นต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน สภาอุตสาหกรรมฯมีพันธมิตรที่พร้อมให้การสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณผู้เชี่ยวชาญและอื่นๆ อาทิภาครัฐโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ให้ความสะดวก กับผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาทำงานและพำนักในประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือจากสถานฑูตประเทศต่างๆ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สนับสนุนทางด้านซอฟท์แวร์ การจัดการระบบข้อมูล กระทรวงวิทยาศาสตร์ด้านอุปกรณ์ เครื่องมือเฉพาะทาง เช่น ระบบเซนเซอร์ต่างๆ” จึงถือเป็นการรวมพลังขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งทางภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป

บทสรุป ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศ 4.0 ซึ่งนับว่าเป็นเวลาสำคัญและเป็นโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นโยบายในการพัฒนาดังกล่าวหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ จะสามารถพลิกโฉมความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นที่มีต่อนักลงทุนทั่วโลกในการเลือกประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเชิงนวัตกรรมต่อไปในอนาคต