สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” อย่างยิ่งใหญ่ ณ ฮอลล์ 7 และ 8 อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา มีพันธมิตรด้านการศึกษาวิชาชีพและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนร่วมโชว์ศักยภาพอย่างคับคั่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับความขาดแคลนแรงงานระดับช่างฝีมือซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม   พิธีเปิดวันแรกท่านรองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานโดยมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะสมาชิกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมออกบูธแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและเครื่องมือการผลิต พร้อมเครื่องมือวัดด้านมิติในระบบควบคุมคุณภาพอย่างเต็มพิกัดคณะของรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ก็ได้ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมบูธของบริษัท สุมิพลฯ โดยมีคุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ เป็นผู้ให้การต้อนรับ     สำหรับวันที่สอง เป็นการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการร่วมจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผุ้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าร่วมงานโดยแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ผู้เรียนอาชีวศึกษา คือผู้ทรงคุณค่าของสังคม” ท่ามกลางผู้ประกอบการชั้นนำจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนผู้บริหารสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะจากทั่วประเทศ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง นายกรัฐมนตรีได้เดินชมบูธที่สำคัญและได้ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมบูธของบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีคุณทองพล อุลปาทร กรรมการและผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงชาวญี่ปุ่นจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือที่เป็นทีมงานสนับสนุนให้การฝึกอบรมร่วมให้การต้อนรับและรายงานอธิบาย     จากนั้น ฯพณฯ ท่านนายกฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ 30 บริษัท ที่ได้คัดสรรจากหลากหลายสาขา ซึ่งคุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการของบริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรกลและเครื่องมือการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย ทั้งนี้ได้มีการหารือกำหนดแนวทางสนับสนุนการศึกษาภาคอาชีวะและความร่วมมือในเชิงทวิภาคีให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่วางไว้ โดยกำหนดแนวทางให้การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูอาชีวศึกษาในลักษณะ “Training The Trainer” เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนต่อไป   ในส่วนของบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการ “พัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 4 ฝ่าย คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย โดยมี คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นผู้ดำเนิน โครงการ โดยคุณจิระพันธ์ฯได้รายงานต่อ ฯพณฯ นายก ถึงการฝึกอบรมครูจากวิทยาลัยเทคนิค 15 แห่ง รวม 30 คน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นการนำร่องเมื่อวันที่ 1 – 7 ตุลาคม 2557 ได้รับครูเข้าฝึกอบรมในบริษัทฯ ผู้ผลิตที่อยู่ในเครือข่าย อาทิ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องมือการผลิต Sumitomo, OSG, A.L.M.T.และ Big Daishowa เครื่องมือวัดละเอียดด้านมิติ Mitutoyo โดยความร่วมมือของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยจัดหลักสูตรใน 2 สาขาวิชาที่สำคัญ คือ 1. สาขาเทคโนโลยีการตัดแต่งขึ้นรูปโลหะ (Advanced Technology of Machining Tools and It’s Applications) 2. สาขาการวัดละเอียดด้านมิติในระบบควบคุมคุณภาพ (Precision Dimensional Measuring Process for Quality   เนื่องจากเครื่องมือเครื่องจักรกลเป็นปัจจัยหลักในการผลิตและอยู่ในส่วนสนับสนุนของทุกวงรอบการผลิต (Tiers) ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนดังแผนภูมิ “ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน” ประกอบคำอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญ นอกจากนั้นได้สรุปและเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการ “โครงการอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” อย่างจริงจังต่อไป โดยส่วนของ กรอ.อศ.กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรระดับช่างฝีมือนับแสนคนจากแผนเพิ่มกำลังการผลิตในปัจจุบัน 2.5 ล้านคัน เป็น 3.5 ล้านคัน ในปี 256 รวมถึงการเตรียมพร้อมที่จะสร้างบุคลากรรองรับการรวมตัวเป็น AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้จะได้ปรับหลักสูตรการฝึกอบรมให้ครอบคุมเนื้อหาวิชาที่จำเป็นให้มากยิ่งขึ้นโดยจะขยายไปถึงการใช้งานของเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตที่สำคัญ เช่นระบบ CNC ของ Mazak เป็นต้นและ CMM ของ Mitutoyo     หลังจากการเสร็จสิ้นการหารือแล้วเป็นการถ่ายรูปร่วมกันของนายกรัฐมนตรีกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และ CEO ทั้ง 30 ท่าน ในโอกาสนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบโอกาสพิเศษสนทนากับคุณจิระพันธ์ในเรื่องเพิ่มการสนับสนุนจากภาคเอกชนให้มากขึ้นและคุณจิระพันธ์ได้กล่าวให้กำลังใจท่านนายกในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป   ลิ้งค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทำเนียบรัฐบาล : นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษและหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันประกอบการชั้นนำ (CEO) เนื่องในโอกาสจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย