[:th] GO THAILAND : ลงทุนเพื่ออนาคต   หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและสื่อในเครือสปริงนิวส์กรุ๊ป ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จัดสัมมนา “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ นายบากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด กล่าวรายงาน พร้อมผู้บริหารหน่วยงานสำคัญจากภาครัฐ-เอกชนของไทยและต่างประเทศ ร่วมเป็นวิทยากรและการเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ อาทิเช่น "Thailand Opportunity ในสายตาต่างประเทศ, ลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานพลิกประเทศ, เมืองใหม่อุตสาหกรรมใหม่ ประชาชนได้อะไร?" ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจำนวนมากกว่า 500 คน     เปิด 3 ทำเลทองแสนไร่ นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้กำหนดโซนพัฒนาเชิงพาณิชย์ใหม่ 3 พื้นที่ เพื่อวางผังการพัฒนาเฉพาะ 3 จังหวัดภาคตะวันออก พื้นที่รวมกว่า 1 แสนไร่ อาทิ   1. พื้นที่บางบริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน จากเดิมที่กำหนดพื้นที่ไว้ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) หรือ 31,250 ไร่ ได้ขยายเป็น 100 ตร.กม. หรือ 62,500 ไร่ การจัดทำผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะมีสนามบินเป็นศูนย์กลางของเมือง แบ่งพื้นที่เป็น 3 ชั้น คือ 1) ย่านพาณิชย์ชั้นใน (CBD) และศูนย์กลางคมนาคม 2) ย่านสำนักงานและที่พักอาศัย สาธารณูปการ 3) ย่านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบินและศูนย์ประชุม-แสดงสินค้า โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงระบบคมนาคมในเมืองด้วยถนน Aerolane มีจุดรวมการจราจรขนส่งระบบราง (HSR/rail) - ถนนสนามบินและท่าเรือ 2. พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงของพัทยา โดยใช้การจัดรูปที่ดินจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ พื้นที่ 2 ตร.กม. หรือ 7,500 ไร่ 3. พื้นที่รอบนอกจุกเสม็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ทหารเรือ ประมาณ 60 ตร.กม. หรือ 37,500 ไร่ ขณะเดียวกัน ได้ศึกษา 7 เมืองที่มีอยู่เดิมว่า จะขยายการพัฒนาต่อและสร้างเมืองใหม่ บริเวณข้างเคียงควบคู่กันไป หรือ หยุดการพัฒนาบริเวณเมืองเก่าและสร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกบรรจุลงในผังอีอีซี เบื้องต้น กำหนดไว้ 3 แห่ง คือ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง
  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมั่นใจ EEC Model   นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในการเสวนาว่า “สภาอุตฯมีความมั่นใจกับการพัฒนา EEC ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา รถไฟรางคู่ รวมถึงมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายที่เข้าไปในพื้นที่ EEC โครงการอินโนเวชั่นพาร์ก ซึ่งเป็นเรื่องดิจิทัลอีโคโนมี สำหรับ Start-up และ SME มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน หรือ SEA (Strategic Environmental Assesment) และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”  

  สุมิพล ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมการผลิตร่วมเสวนา   นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด เปิดเผยว่า ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรม 10 คลัสเตอร์ที่เป็น S-curve เดิม และ S-curve ใหม่ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งนวัตกรรม ที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลายหมื่นอัตรา มีความต้องการแรงงานระดับฝีมือขั้นสูง ทั้งช่างเทคนิคและวิศวกรด้านต่างๆ จำนวนมาก โดยบริษัท สุมิพลฯ ผู้ประกอบธุรกิจด้านเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนรวม 14 แห่ง จัดตั้ง “สถาบันเทคนิคแห่งการเรียนรู้” (Technical Learning Academy) ณ สำนักงานธุรกิจแห่งใหม่ของบริษัทฯ ที่ทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างบุคลากรที่ขาดแคลนตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม  
  จากการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดกรอบระยะยาวในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรของชาติถือเป็นวาระสำคัญยิ่ง ประกอบกับ EEC ได้ถูกกำหนดให้เป็นโครงการนำร่องขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ซึ่งในอนาคตจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 30 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 โรงงาน และกำลังแรงงานกว่า 300,000 คน     สถาบันแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ถือเป็นมิติใหม่ (New Perspective) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับเป็นโครงการบนความร่วมมือสานพลังประชารัฐเต็มรูปแบบ โดยกำหนดแนวทางเป็น 2 ส่วน   ส่วนที่ 1 คือการร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรม การจัดสรรทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน ร่วมกันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เน้นหนักภาคปฏิบัติในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้ง 10 S-curve ตามนโยบายของรัฐ       ส่วนที่ 2 จากประสบการณ์ในการจัดฝึกอบรมที่ร่วมกับหน่วยราชการหรือองค์กรอื่น พบข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะในเรื่องเครื่องจักรกล อุปกรณ์ บุคลากรผู้ชำนาญการ และองค์ความรู้ ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จึงปรับแนวทางในการแสวงหาพันธมิตรกับผู้ผลิตเครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ชั้นนำ ทั้ง Hardware และ Software ที่มีเป้าประสงค์เดียวกันให้เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อขอให้ผู้ผลิตนำเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมาติดตั้งในศูนย์ฝึกอบรมพร้อมองค์ความรู้ หลักสูตร และผู้ชำนาญการมาร่วมให้การฝึกอบรมโดยรักษาระดับความเป็นปัจจุบันตลอดเวลา รวมถึงการจำลอง line การผลิตชั้นสูงในลักษณะ Learning Factory มาอยู่ใน academy นอกจากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานสำคัญอื่นหลายแห่ง ทั้งภาคการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออก 12 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาในลักษณะ “Training the Trainer” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนซึ่งจะทำให้สามารถเร่งการดำเนินการให้กว้างขวางทวีคูณ     สถาบันแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรที่ขาดแคลนตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตรงตามความต้องการของผู้ลงทุน   นอกจากการพัฒนาบุคลากรดังที่ได้กล่าวแล้ว ได้เตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้ให้การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานตามสาขาที่อยู่ในสายงาน ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เร่งกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและได้ประกาศใช้เป็นกฏหมายแล้วเกือบ 250 อาชีพ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไปแล้วกว่า 400 อาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ในการแยกแยะผู้ที่มีทักษะฝีมือออกจากผู้ทำงานแรกเข้าที่ยังไม่มีทักษะใด ๆ เป็นการผ่อนคลายความกังวลในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาของต้นทุนและประสิทธิภาพของการผลิตที่เกิดขึ้นตลอดมา     การก่อสร้างสถาบันฯลุล่วงไปกว่า 70% คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในไตรมาสแรกของปี 2562 ครอบคลุมให้ประโยชน์แก่บุคลากรทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในภาคแรงงานปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาสู่วัยทำงาน รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งทุกคนสามารถเข้ารับการฝึกอบรมเสริมความรู้ของตนเองได้ ทั้งนี้กิจกรรมทั้งหมดไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไร
   [:]