[:en] [:th] การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ (9 แห่ง) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด   ว่าด้วย ความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษา งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยา   วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ณ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ     การพัฒนานำประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ระบบมาตรวิทยา (Metrology) เป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างมาตรฐานและหลักประกันด้านคุณภาพ รองรับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและการแข่งขันของสินค้าไทยในระดับสากล องค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ มาตรวิทยา (Metrology) การมาตรฐาน (Standardization) การทดสอบ (Testing) และการบริหารคุณภาพ (Quality Management) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ – มว. (National Institute of Metrology – NIMT) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นองค์กรที่มีบทบาทเป็นเสาหลักของระบบมาตรวิทยาซึ่งจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต     เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษา งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยา ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั่วประเทศ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ มทร.ธัญบุรี มทร.กรุงเทพ มทร.พระนคร มทร. ตะวันออก มทร.ล้านนา มทร.รัตนโกสินธ์ มทร.สุวรรณภูมิ มทร.ศรีวิชัย มทร.อีสาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน ในฐานะประธานกลุ่มพร้อมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 9 แห่ง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดย นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง พิธีจัดขึ้น ณ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ถือเป็น MOU ฉบับแรก ที่สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีระดับอุดมศึกษารวมตัวกันจับมือกับองค์กรด้านมาตรวิทยาของภาครัฐ และหน่วยงานเอกชนผู้ชำนาญการด้านเครื่องมือการวัดและควบคุมคุณภาพ ในการนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศิษฐ์ แสง-ชูโต คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มาร่วมงานเป็นสักขีพยาน ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติและคณะผู้บริหารจากทุกหน่วยงาน พร้อมการมอบของที่ระลึกและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกัน       วัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านมาตรวิทยา ให้สอดคล้องและรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ใหม่ 10 กลุ่ม ตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพและยกระดับความรู้ความสามารถด้านมาตรวิทยา ให้กับคณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการ และการฝึกอบรมภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังก้าวสู่ยุค 4.0 ในอนาคตอันใกล้     ในพิธีลงนาม นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการ ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำกิจการของสถาบันฯ และอธิบายความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงในระบบมาตรวิทยาของโลกที่สำคัญ คือ การให้นิยามของหน่วย SI สัมพันธ์กับค่าคงที่เพื่อที่นิยามจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตามกาลเวลา เช่น การทดลองเพื่อหานิยามใหม่ให้แก่กิโลกรัม พุ่งความสนใจไปที่การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมวลและค่าคงที่พลังก์ (Planck constant) ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของการวัดในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ ประธานกลุ่มได้กล่าวขอบคุณ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่จะให้การสนับสนุนในการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของระบบการวัดเพื่อสามารถนำไปพัฒนาการเรียนการสอนให้พร้อมรับกับการพัฒนาประเทศต่อไป     ส่วนของ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือวัดละเอียดด้านมิติ Mitutoyo ผู้ผลิตชั้นนำของโลกประกอบด้วยเครื่องมือวัดขนาดเล็ก (Small Tool) เครื่องมือวัดหลัก (Major Item) และเครื่องจักรกลการวัด 3 แกน (Coordinate Measuring Machine – CMM) ซึ่งมีความพร้อมในการจัดฝึกอบรมในงานนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยบริษัทฯมีชุดเครื่องมือเคลื่อนที่สามารถนำไปใช้ฝึกอบรมได้ทุกสถานที่ โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมมีโอกาสสัมผัสการใช้เครื่องมือจริงที่เป็นเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยเฉพาะการฝึกอบรมรูปแบบ “Training the Trainer” ให้กับครูอาจารย์และผู้ฝึกสอน นอกจากนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาสุมิพลยังให้การสนับสนุนการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานด้านมาตรวิทยา ในภาคแรงงานและภาคการศึกษาหลายระดับ รวมถึงการแข่งขันทักษะฝีมือของ มทร. ในงาน “ราชมงคลวิชาการ” อย่างต่อเนื่อง นายจิระพันธ์ได้แสดงความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาครูผู้ฝึกสอน และนักศึกษาของ มทร. ทั้ง 9 แห่งอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้นาย   ทองพล อุลปาทร กรรมการและผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ได้บรรยายถึงการจัดตั้ง “ศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้ของสุมิพล” (Sumipol Technical Learning Academy) ที่กำลัง ก่อสร้าง ณ ทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ให้แก่ที่ประชุมรับทราบและให้ความมั่นใจถึงความพร้อมที่จะร่วมมือในกิจกรรมการฝึกอบรมกับ มทร. ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2562     คาดหวังได้ว่า MOU ของทั้ง 3 ฝ่าย จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนของคณาจารย์ นักศึกษาในสังกัด มทร. ทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีกว่า 40,000 คน (เฉพาะสาขาวิศวกรรมปีละ 4,500 คน) เพื่อจรรโลงความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้[:]