เมื่อวันที่ 22-24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) จัดหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนโปรแกรมอุปกรณ์ควบคุมสำหรับสมาร์ทแฟคทอรี่ ขั้นพื้นฐาน” และหลักสูตร “การวัดด้านมิติด้วยเครื่องมือวัดแบบดิจิทัลเบื้องต้น” โดยการสนับสนุนจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย บริษัท ออมรอน (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีครูผู้สอนจากสถานศึกษาต่าง ๆ ในสังกัดของ สอศ. เข้าร่วมทั้ง 2 หลักสูตร รวมทั้งสิ้น 90 คน
โดยวันที่ 22 มีนาคม 2565 ในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก ดร.ชาญเวช บุญประเดิม ที่ปรึกษาชำนาญการด้านการบริหารและพัฒนาระบบ เป็นประธานในการเปิดงาน ร่วมด้วยคุณถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธาน อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา คุณสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าที่พันตรี วัชรพล ลักษณลม้าย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราเลขานุการคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน และเลขานุการศูนย์บริหารเครือข่ายและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) และคุณพงศ์พันธุ์ ชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายความร่วมมือ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) และแขกผู้มีเกียรติจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ร่วมในพิธี
การฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดการฝึกอบรมแบบทฤษฎีเชิงปฏิบัติ โดยหลักสูตรแรก “การเขียนโปรแกรมอุปกรณ์ควบคุมสำหรับสมาร์ทแฟคทอรี่ ขั้นพื้นฐาน” ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ศุภชัย หอวิมารพร สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นวิทยากร โดยการสนับสนุนชุดปฏิบัติการฝึกอบรมและทีมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 40 คน และในหลักสูตรที่สอง “การวัดด้านมิติด้วยเครื่องมือวัดแบบดิจิทัล” เป็นการบูรณาการทีมวิทยากรร่วมกันระหว่าง บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) และสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 50 คน
การฝึกอบรมทั้งสองหลักสูตรดังกล่าวลุล่วงด้วยดีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้ในการสอนด้วยเทคโนโลยีล่าสุด สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม