ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการประกอบธุรกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ สำหรับประเทศไทยแรงงานยังเป็นปัจจัยสำคัญขององค์กรในการขับเคลื่อนไปสู่การเติบโต และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือได้สร้างความกังวลให้กับภาคเอกชนค่อนข้างมาก Blue Update ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ เกี่ยวกับนโยบายการทำงานและความก้าวหน้าของการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการแก้ไขปัญหาแรงงานนำพาเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
ภาพรวมของปัญหา
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พูดถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานไว้ว่า “กรณีการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น แปรรูปอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มี MOU ระหว่างกันมาทดแทน บางส่วนที่ต้องลดต้นทุนได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศไทยต้องพัฒนาเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือมากขึ้น สำหรับการผลิตสินค้าคุณภาพและการรองรับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น
ความร่วมมือกับภาคเอกชนเเละภาคการศึกษา
การเเก้ปัญหาขาดเเคลนเเรงงานฝีมือจะประสบความสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในการผลิตแรงงานใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่ทำงานอยู่แล้วโดยการยกระดับทักษะฝีมือให้สูงขึ้น มี Multi-Skills มีสมรรถนะสูงปรับตัวรองรับเทคโนโลยีได้ ทั้งนี้รัฐต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอบรมลูกจ้างของตนเอง โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานที่ดูแลให้สถานประกอบการนำหลักสูตรฝึกอบรมและนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าหรือ 200% ซึ่งส่งผลให้มีการอบรมแรงงานในระบบการจ้างงานปีละประมาณ 4,000,000 คน นอกจากนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 แห่ง และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอีก 65 แห่งให้บริการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้เยาวชนที่จบการศึกษาระดับต่างๆ ที่เป็นแรงงานใหม่ ในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานหรือฝึกปฏิบัติต่อยอดเข้มข้นให้ผู้จบ ปวช. และ ปวส. หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้ก่อนเข้าทำงาน และมีโครงการพัฒนาแรงงานใหม่และยกระดับฝีมือลูกจ้างร่วมกับสถานประกอบการ เช่น ฝึกแรงงานใหม่ที่กำลังจะจบ ปวช. หรือ ปวส. ในสาขาช่างยนต์ ช่างซ่อมตัวถังรถยนต์ และช่างสีรถยนต์สำหรับศูนย์บริการกับบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย) จำกัด โดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และจะขยายไปยังสถาบันฯภาคอื่นๆ ต่อไป การฝึกพนักงานโรงแรมแผนกต่างๆ ร่วมกับโรงแรมในเครือเซ็นทารา หรือการฝึกยกระดับช่างที่ทำงานอยู่แล้วกับบริษัทสยามไดกิ้น เพื่อให้มีฝีมือรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปและซับซ้อนมากขึ้น เป็นต้น สำหรับการขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวศึกษา ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาได้จัดการศึกษาระบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการเพื่อให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและการปฏิบัติงานจริงนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีมาตรการสนับสนุนเรื่องนี้โดยสถานประกอบการก็สามารถนำมาขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หักค่าใช้จ่ายได้ 200% ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ได้เช่นเดียวกัน โดยต้องมีการจัดทำหลักสูตรแยกเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือและระยะเวลาฝึกให้ชัดเจน มีการอบรมครูในสถานประกอบการเพื่อรองรับการฝึกงานด้วย
บทบาทของกรมพัฒนาฝีมือเเรงงาน
“โดยหน้าที่หลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ การพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานไทยให้มีทักษะได้มาตรฐานสากล “Workforce with World-class Competency” ในปี 2558 นอกเหนือจากแผนงานปกติในการฝึกเตรียมเข้าทำงานให้กับแรงงานใหม่ ฝึกยกระดับให้กับแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และการรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3 ด้าน ดังนี้
เพิ่มผลิตภาพด้วย Multi-Skills
ด้านที่ 1 การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs มีการจัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สถานประกอบกิจการ เน้นการปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยการลดขั้นตอนเเละต้นทุนในกระบวนงานต่างๆ เน้นการฝึกแรงงานให้มี Multi-Skills ทำงานที่หลากหลายซับซ้อนขึ้น มีความสามารถในการวางแผนและการจัดการมากขึ้น โดยมีทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SMEs จำนวน 260 แห่งทั่วประเทศ อบรมทักษะให้ลูกจ้าง 10,000 คน เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว นายจ้างลูกจ้างนำแนวทางไปปฏิบัติต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืนต่อไป บางสถานประกอบการนอกจากลดความสูญเสีย ลดต้นทุน ลดคนลงได้แล้ว ลูกจ้างได้ค่าจ้างสูงขึ้นอีกด้วย และเพื่อเป็นการขยายผล กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในทุกจังหวัด
มุ่งสร้างมาตรฐานฝีมือเเ รงงาน
ด้านที่ 2 การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ แบบอิงสมรรถนะตามตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมและบริการ โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ จัดทำมาตรฐานให้ตรงกับการจ้างงานซึ่งเน้นให้แรงงานมีทักษะความสามารถตามการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมรองรับประชาคมอาเซียน จำนวน 96 สาขาอาชีพการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นการจำแนกระดับฝีมือแรงงาน ตามความรู้ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของสาขาอาชีพต่างๆ ตามลักษณะงานที่ควรรู้และสามารถทำได้ ในขั้นตอนตามลำดับความยากง่ายของงาน กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 1 (ระดับกึ่งฝีมือ) ระดับ 2 (ระดับฝีมือ) ระดับ 3 (ระดับเทคนิค) สำหรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นการทดสอบภาคความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับ ซึ่งใช้วิธีการทดสอบ ทั้งภาคความรู้ความสามารถ (ส่วนใหญสัดส่วนระหว่างภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีจะอยู่ที่ 70:30) ให้ผู้ทดสอบหางานได้ง่ายขึ้นมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามฝีมือปัจจุบันมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว 35 สาขาอาชีพแบ่งเป็น 6 กลุ่มสาขาอาชีพหลัก ได้แก่ 1. ช่างอุตสาหการ 2. ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 3. ช่างก่อสร้าง 4. ช่างเครื่องกล 5. ภาคบริการ 6. ช่างไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาดังกล่าวก็จะได้รับค่าจ้างตามอัตรานั้นๆ ด้วย ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 210 สาขาอาชีพ (จัดทำโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเองจำนวน 114 สาขาอาชีพ อยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีทดสอบฯ 17 สาขาอาชีพ จัดทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 88 สาขาอาชีพ อยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีทดสอบฯ 44 สาขาอาชีพ จัดทำร่วมกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ จำนวน 8 สาขาอาชีพ อยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีทดสอบฯ 4 สาขาอาชีพ “นอกจากนี้เรายังมีประกาศเพิ่มในราชกิจจานุเบกษาอีก 2 สาขา คือ สาขาช่างสอบเทียบเครื่องมือวัด (มิติ) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีการทดสอบมาตรฐานฯ โดยสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน (ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ) และสาขาช่างเทคนิคปั๊มขึ้นรูปโลหะ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำวิธีการทดสอบมาตรฐานฯเช่นกัน ซึ่งสำหรับสาขานี้เป็นความร่วมมือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”
ไฮไลท์หรือเรื่องสำคัญในขณะนี้คือ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 กำหนดเรื่องวิชาชีพควบคุมให้ผู้ที่ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ซึ่งจะเริ่มกับช่างไฟฟ้า 3 สาขา คือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร และช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทเฉพาะกาลภายในหนึ่งปี ผู้ที่ประกอบ อาชีพต้องมีหนังสือรับรองความสามารถ โดยจะบังคับใช้กับการทำงานใน อาคารสาธารณะ 5 ประเภทคือ 1. สถานที่ราชการ 2.โรงพยาบาล 3.สถานศึกษา 4.ห้างสรรพสินค้า 5.สถานบริการ ทั้งนี้มีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน ปรับนายจ้าง 30,000 บาท และลูกจ้าง 5,000 บาท อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ย้ำว่ากฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์คุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงานพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบอาชีพ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและบทบาทของสมาคมองค์กรวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะร่วมกับสมาคมช่างเหมาไฟฟ้า ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อผลิตช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความสามารถโดยเร็วต่อไป
เลือกยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมเรือธง
ด้านที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการพัฒนาศักยภาพแรงงานรายอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์เป็นอันดับแรกทั้งนี้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียน หรือเป็นแนวหน้าในระดับเอเชีย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน คือ กำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือ แต่ในขณะนี้ประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน” (Automotive Human Resource Development Academy : AHRDA) ขึ้นในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ เพื่อให้เป็นสถาบันหลักในการผลิตกำลังแรงงานในสาขานี้ ในช่วง 5 ปีนี้ (ตั้งแต่ปี 2558-2562) พบว่าตลาดมีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบยานยนต์ 63,025 คน กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ 200,555 คน และเมื่อถึงปี 2563 ไทยจะขยายการผลิตรถยนต์ได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันราว 5 แสนคัน จึงต้องการกำลังแรงงานฝีมือประมาณ 2 แสนคน ทั้งในระดับปฏิบัติการและวิศวกร พร้อมทั้งลดการพึ่งพาแรงงานเพื่อนบ้าน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในสายการผลิตถึงประมาณ 120,000 คน จากทั้งหมด 700,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานระดับล่างหรือไร้ฝีมือ เป็นปัญหาในด้านการผลิตที่ล่าช้าและคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงตอบสนองความต้องการดังกล่าวด้วยการวางแผนพัฒนากำลังแรงงานในสาขานี้ โดยในปีแรกจะเน้นการพัฒนาครูฝึกและบุคลากรในสถานประกอบการครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 1,000 คน และจะขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ด้านยานยนต์ พนักงานในสถานประกอบกิจการ โดยวิทยากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ งานกลึงซีเอ็นซี งานกัดซีเอ็นซี การเชื่อมแมกซ์ระบบไฮดรอลิกส์ รวมถึงมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานประมาณ 36 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานงานกลึง งานไฮดรอลิกส์ และการเชื่อมคาดว่าจะแล้วเสร็จครบทุกสาขาในปี 2560
ฝีมือเเรงงานไทยสร้างชื่อระดับโลก
อีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและประเทศไทยมาโดยตลอด นั่นคือ การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อกระตุ้นการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยไปสู่มาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติอย่างต่อเนื่องรวม 26 ครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับเยาวชนได้แสดงความสามารถด้านทักษะฝีมือในการประกอบวิชาชีพที่ได้ฝึกฝนอบรมมาในสาขาต่างๆ โดยเยาวชนที่ผ่านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน และการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติต่อไปตามลำดับ ในปีนี้การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ หรือ World Skills Sao Paulo 2015 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 16 สิงหาคม นี้ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญของการแข่งขันฝีมือแรงงานว่า “สำหรับการแข่งขัน World Skills ถือว่าเป็นบันไดขั้นที่สี่ต่อจากการแข่งขันระดับภาค ประเทศ แล้วมาอาเซียน ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เราได้สนับสนุนในการเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างเต็มที่แต่ในบางสาขาการสนับสนุนหลักก็ยังเป็นภาคเอกชน ในส่วนของสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยเครื่องจักรกล CNC โดยเฉพาะงานกลึงอัตโนมัติ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก ได้สร้างทีมจนประสบความสำเร็จตลอดการแข่งขัน 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยได้รับเหรียญทอง 3 ครั้ง และเหรียญเงิน 1 ครั้ง และในปีนี้ บริษัท สุมิพล คอร์เปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือข่าย เช่น Sumitomo, OSG, A.L.M.T.,Big Daishowa, Mazak และ Mitutoyo รวมทั้งสถาบันไทยเยอรมัน สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ส่งทีมเข้าแข่งขันในสาขางานกัดอัตโนมัติ CNC Milling อีกด้วย การได้เหรียญทองจากการแข่งขันระดับโลกในขณะที่เราเป็นประเทศขนาดเล็ก เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลการฝึกอบรมและการพัฒนาที่เราได้ทุ่มเทให้กับภาคอุตสาหกรรม”
แม้ว่าปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาระดับชาติที่หลายฝ่ายมีความกังวล แต่จากการได้พูดคุยกับหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้เราได้เห็นความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างภาครัฐและเอกชน แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขให้เสร็จสิ้นในระยะอันใกล้นี้ แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความกระตือรือร้นในการทำงานของข้าราชการในกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนความสำเร็จจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทำงานหนักและความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่อย่างน้อยก็ทำมั่นใจได้ว่า ประเทศไทยมีการเตรียมตัวที่ดี