ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังก้าวสู่การพัฒนาไปอีกขั้น ตั้งแต่ผ่านมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นนโยบายที่ทางภาครัฐและภาคเอกชนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำร่างยุทธศาสตร์ยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศ 4.0 วันนี้ทีมงาน Blue update ได้รับเกียรติอย่างสูงสัมภาษณ์ คุณหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ถึงแนวทางการทำงานของ BOI ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แสดงถึงทิศทางการพัฒนาในเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด “เพียง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน 2559) ของการเริ่มดำเนินการตามมติเห็นชอบฯนั้น มีการขอรับการส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมากถึง 397 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 52 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น และมีมูลค่ารวม 126,132 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด หากพิจารณาจำนวนโครงการพบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ในด้านมูลค่าของเงินลงทุนพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการลงทุนสูงสุด”

 

จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรมระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2559(ที่มา: คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)

 

 

สนับสนุนภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีระดับโลกสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆในประเทศ และที่ทาง ส.อ.ท. และภาครัฐ เห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถผลักดันไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอุตสาหกรรมที่จะต้องปรับตัวสู่ภาวะการแข่งขันของ Global supply chain ที่ไม่ใช่เพียงการเป็นฐานผลิตสำคัญของโลกเท่านั้น แต่ต้องมุ่งพัฒนาในเรื่องนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต

 

 

ทุกกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีทั้งหมด 28 โครงการ เงินลงทุน 35,388 ล้านบาท เป็นโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) 24 โครงการ เงินลงทุน 34,000 ล้านบาท เป็นโครงการในนโยบายคลัสเตอร์ 3 โครงการ เงินลงทุน 9 พันล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นไปได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตลาดด้วย “ในด้านความร่วมมือและการให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลงทุนในประเทศเพิ่มเติมนั้น สำนักงานได้มีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมีเงื่อนไขบังคับสำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือ Center of Excellence เพื่อเน้นการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี เช่น ความร่วมมือในโครงการ Talent Mobility, Work Integrated Learning เป็นต้น ตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้วคือมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ โดยโครงการนี้มีร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ มีการส่งนักศึกษาไปเรียนรู้ภาคทฤษฎีที่ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นที่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่านักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะมีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติออกมาเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมต่อไป” คุณหิรัญญากล่าว

 

การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor) ถือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักในประเทศไทยที่คาดหวังในความส?าเร็จหลังจากการผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคุณหิรัญญาได้กล่าวถึงปัจจัยแห่งความส?าเร็จว่า “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางการพัฒนาระบบพลังงานและระบบ ICT เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนี้การปรับปรุงนโยบาย กฎระเบียบ พิธีการต่างๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงเพิ่มบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการอำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในพื้นที่เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว”

 

 

จุดเรื่มต้นที่สดใสอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

 

ทางด้านอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย และมีระดับเทคโนโลยีสูงต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ ดังนั้นการขอรับการส่งเสริมในส่วนของคลัสเตอร์ของ 2 อุตสาหกรรมนี้จึงยังมีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ดังตารางที่ 1 หากพิจารณาตาม Value Chain ของอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนผู้ออกแบบ ผู้ประกอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (อากาศยานหรืออุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ตลอดจนผู้ให้บริการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องจึงมีโอกาสอย่างมากที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นได้ สำนักงานได้มีการประชาสัมพันธ์นโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าเป็นการจัดสัมมนาการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งดำเนินการชักจูงการลงทุนเชิงรุกโดยมีการจัดกิจกรรมพบบริษัทเป้าหมายในต่างประเทศ นอกจากนี้สำนักงานได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานผ่านการดำเนินกิจกรรมของหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหรือหน่วย BUILD (BOI Unit for Industrial Linkage Development) ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 มีกำหนดการจัดกิจกรรมในรูปแบบเจรจาจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมนำผู้ประกอบการเข้าเยี่ยมชมโรงงาน และร่วมออกบูธในงานสำคัญๆ ระดับโลกอีกจำนวนมาก อาทิ การจัดคณะผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทย ร่วมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมชมโรงงาน และเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ซึ่งจะเป็นเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนและต่อยอดการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสำหรับผู้ประกอบการไทยไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

เพิ่มสิทธิประโยชน์ กระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ

 

คุณหิรัญญาได้ขยายความสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมว่า “นอกจากสิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีจากบีโอไอแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเป็นต้น สำหรับมาตรการสนับสนุนอื่นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน ซึ่งมีคณะอนุกรรมการดูแลในแต่ละคลัสเตอร์เป็นการเฉพาะ” เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ขยับตัวลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ก็จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ผลิตและนักลงทุนรายย่อยในอุตสาหกรรมต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำอย่างมหาศาล นั่นเป็นเพราะนักลงทุนรายใหญ่มีความสำคัญและเป็นส่วนช่วยในการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ (Process Upgrading) มากยิ่งขึ้น

 

เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2559

 

คุณหิรัญญาได้เปิดเผยถึงเป้าหมายการลงทุนโดยรวมในภาคอุตสาหกรรมของ BOI ในสิ้นปี 2559 ว่า “เดิม บีโอไอตั้งเป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 ไว้ที่ 450,000 ล้านบาท แต่จากแนวโน้มของการขยายตัวในการลงทุนที่มากขึ้น จึงได้เพิ่มเป้าหมายอีก 100,000 ล้านบาท เป็น 550,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกิจการเป้าหมายร้อยละ 52 หรือประมาณ 286,000 ล้านบาท และเป็น FDI ร้อยละ 43 หรือประมาณ 236,500 ล้านบาท โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 นั้นจะทยอยลงทุนภายใน 3 ปี ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในปีนี้อาจมากถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการตามนโยบายคลัสเตอร์จะต้องลงทุนและเปิดดำเนินการภายในปี 2560 ซึ่งเกิดการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเร็วขึ้น”

Sumipol-Automation-Solution