ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 หรือ พ.ศ. 2558 นี้ จะทำให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเทศไทยเป็นสมาชิกที่สำคัญ เป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดการค้าคึกคักแห่งใหม่ของโลกได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยนั้นเชื่อมโยงใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมโลกด้วยบทบาทการเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่สำคัญๆซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ Blue Update ฉบับนี้ขอนำเสนอแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมการผลิตที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยได้เข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน พร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจหากภาวะทางเศรษฐกิจมีการเติบโตตามที่คาดการณ์

 

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ (A Gradual Pick Up in World Economy) หน่วยงานและองค์กรทางเศรษฐกิจระดับโลกต่างวิเคราะห์และพยากรณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกกำลังฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มีมาตั้งแต่ปี 2009 แต่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆแต่อย่างไรก็ตาม กองทุน IMF ได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีการขยายตัวสูงกว่าในปีนี้ที่ 3.4% และเพิ่มเป็น 4.0% ในปีหน้าสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะเติบโตที่ 4.6% ในปีนี้ และขยายตัว 5.6% ในปีหน้า สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ใว้ที่ 1.5-2.0% แต่คาดว่าปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5%

 

ความต้องการด้านการผลิต (Manufacturing Demands) จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้าส่งผลในด้านบวกต่อการส่งออกของประเทศและภาคการผลิตของไทยโดยตรง โดยดัชนีการผลิต Manufacturing PMI ของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าล้วนมีค่าเพิ่มขึ้นตลอดปี 2013 เรื่อยมาถึงกลางปี 2014 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นถึง 57.9 ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมโลกจะสูงขึ้น สำหรับประเทศไทย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในสองไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2557 หดตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 59.5% สำหรับไตรมาส 1/2557 และ 61.79% สำหรับไตรมาส 2/2557 โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ มีเพียงอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงทั้งกลุ่ม ยกเว้นการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.64 เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอล อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตไทยนั้นสศช มองว่าการเติบโตของประเทศในระดับนี้ยังต่ำกว่าระดับความสามารถที่แท้จริง โดยปัญหาที่ผ่านมาพบว่าเกิดจากสองปัจจัยหลักหนึ่งคือ การใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และปัญหาความต้องการภายในประเทศที่ลดลงจากภาวะความไม่สงบทางการเมือง และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐ และสอง ประสิทธิภาพในการผลิตที่ยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้สูงสุด การผลิตของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นระบบที่อาศัยแรงงานเป็นหลักผสมผสานกับการปรับปรุงกระบวนการผลิต แม้เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ประกอบกับประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในด้านความมั่นคงทางการเมืองทำให้ความต้องการต่อสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการผลิตมากขึ้น แต่เนื่องจากความเกี่ยวโยงกันของระบบการผลิตที่มีซัพพลายเชนอยู่ทั่วโลก ดังนั้นความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ภัยภิบัติธรรมชาติ หรือแม้แต่โรคระบาด ก็สามารถส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้ทุกเวลา แน่นอนว่าภาคการผลิตของเราจะอาศัยความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าแรงราคาถูกอีกต่อไปไม่ได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเริ่มต้นการพัฒนาในทุกๆด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การสร้างนวัตกรรมต่อสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวบุคลากร สิ่งที่ผู้ประกอบการผลิตจะต้องระลึกอยู่เสมอนั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร เพื่อที่จะได้ขยับขึ้นไปบนห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่า ต่อไปนี้คือ 5 หัวข้อที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในวงการอุตสาหกรรมผลิตโลกและแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความใส่ใจเพราะว่ามันจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในอนาคตอันใกล้นี้

 

นโยบายในการจ้างทำและการย้ายฐานการผลิต (Outsource Policy and Manufacturing Bases Relocation) ในอดีต กลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติคือการลดต้นทุนการผลิต โดยการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก เช่นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเลคโทรนิคส์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ย้ายฐานมาอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน เม็กซิโก ต่อมาการเปลี่ยนแปลงมุมมองทางหลักเศรษฐศาสตร์ที่พบว่า อุตสาหกรรมการผลิตทำให้เกิดการจ้างงานและกำลังซื้อของคนในชาติ ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดตั้งโครงการ Reshoring Initiative หรือ ย้ายฐานการผลิตของตนในต่างประเทศกลับ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาได้ริเริ่มขึ้นในปี 2011 เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศและสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยขณะนี้มีบริษัทชั้นแนวหน้าของสหรัฐที่ได้ย้ายฐานการผลิตกลับอเมริกาบ้างแล้วเช่น Caterpillar GE Ford Google และ Whirlpool หรือแม้แต่ Apple สำหรับการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง นอกจากนี้ยังประกาศให้เงินสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้าง“ระบบการผลิตแบบก้าวหน้า” (Advanced manufacturing) โดยตั้งใจจะให้เกิดนวัตกรรมใหม่สำหรับการผลิต ซึ่งเป็นที่น่าสนใจจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อโครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตโลกในอนาคตอย่างไรบ้าง โครงการนี้สหรัฐอ้างว่า นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้วบริษัทที่ย้ายกลับจะได้ประโยชน์มากมายเช่น ความมั่นคงทางพลังงาน การรวมตัวเป็นคลัสเตอร์อยู่ใกล้ชิดกับฐาน R&D ของบริษัทแม่เพื่อความได้เปรียบในด้านการสร้างนวัตกรรม การควบคุมคุณภาพ ลดความเสี่ยงในด้านปกป้องทรัพสินทางปัญญาลดค่าใช้จ่ายด้านคงคลังและเพิ่มความสามารถในการผลิตแบบ JIT และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการตอบสนองลูกค้าและตลาดเช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่และการส่งมอบสินค้า ส่วนบริษัทจากยุโรป แม้จะยังไม่มีนโยบายด้านการย้ายฐานแต่อียูก็ได้เน้นการฟื้นฟูภาคการผลิตของตนเช่นกัน โดยทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการที่เรียกว่า Advancing Manufacturing – Advancing Europe ซึ่งจะเน้นความก้าวหน้าในกระบวนการผลิต รวมทั้งความยั่งยืนและการใช้พลังงานสะอาด ส่วนประเทศญี่ปุ่นยังคงส่งเสริมการย้านฐานผลิตออกนอกประเทศ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานและพลังงาน

 

เทคโนโลยีที่ต้องจับตามอง (Manufacturing Technologies to Watch) การเพิ่มศักยภาพการเติบโตจากทรัพยากรเดิมขององค์กรนั้นแม้จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในที่สุดก็จะถึงทางตัน จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาช่วย ในที่นี้ขอนำเสนอเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มผลผลิตในบ้านเราในเร็วๆนี้ ดังนี้

 

    1. Additive manufacturing หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 3D Printer ไม่เพียงเป็นเทคโนโลยีที่กล่าวกันว่าจะเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมการผลิตไปอย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นการเปิดประตูไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการออกแบบและโครงสร้างของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วยด้วยหลักการที่ง่ายโดยการเอาข้อมูลสามมิติของวัตถุที่ต้องการสร้าง มาแปลงเป็นชั้นเลเยอร์บางๆ แล้วเครื่องก็จะพิมพ์หรือฉีดสารวัสดุลงเติมชั้นเลเยอร์นั้น ทีละชั้นจนเกิดเป็นวัตถุที่มีรูปร่างตามต้นแบบทุกประการ แต่ความแตกต่างของ Additive manufacturing อยู่ที่รูปแบบและวิธีการในการเติมสาร ซึ่งจะทำให้สามารถใช้วัสดุที่หลากหลายและได้ชิ้นงานที่มีความละเอียดแม่นยำต่างกัน เช่น Fused Deposition Modeling (FDM), PolyJet หรือ Metal Laser Sintering ที่สามารถใช้ได้กับวัสดุที่มีความแข็งพิเศษ เช่น อะลูมิเนียม ไปจนถึง ไททาเนียม สำหรับประโยชน์ในชั้นนี้ Additive manufacturing สามารถนำมาใช้ในขั้นตอนการออกแบบ หรือเพื่อจำลองในขั้นตอนต่างๆ เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์
    2. Industrial robotics วัตถุประสงค์ของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ไม่ได้เป็นการทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน แต่เราใช้มันเป็นตัวลดภาระของมนุษย์และเพื่อประสิทธิภาพให้เครื่องจักร หุ่นยนต์จะเป็นสิ่งที่ทำให้โรงงานมีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากมันสามารถทำงานได้ 24 ชมต่อวันและ 7 วัน ต่อสัปดาห์ รวมทั้งมีความแม่นยำเที่ยงตรงกว่ามนุษย์ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเซนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การโหลดชิ้นงานและวัสดุ การขนถ่ายชิ้นงาน การทำงานในที่มีอัตรายเช่นความร้อนสูง หรือมีสารเคมี ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าหุ่นยนต์ที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนมากและราคาไม่สูงนัก เหมาะกับการใช้งานในบ้านเราที่ยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแรงงานเข้มข้นไปเป็นการผลิตที่ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น
    3. On-Machine solution นับเป็นเทคโนโลยีใช้กันมากในผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระดับ OEM เป็นการนำเอาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่นระบบควบคุม ระบบการวัดการประเมินผลมาอยู่ใกล้หรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของเครื่องจักร โดยทำให้สามารถลดการเดินเชื่อมต่อสายไฟ ตัวอุปกรณ์คอนเนกเตอร์ต่างๆ รวมทั้งตู้คาบิเนตที่เก็บอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยทำให้เราสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักรได้ใกล้ชิดขึ้นเรียลไทม์มากขึ้น ประโยชน์และข้อได้เปรียบเช่น ลดเวลาการเซ็ตอัพและอัพไทม์ของเครื่องจักร เพิ่มผลผลิต และลดไซเคิลไทม์ เพิ่มความถูกต้องในการผลิต โดยเฉพาะกับชิ้นงานที่เป็นโปรโตไทป์เพื่อการรับรองจากลูกค้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำการวัด การทดสอบทั้งในระหว่างขั้นตอนและเมื่อสิ้นสุดกระบวนการผลิต สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในการได้รับสินค้าตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากประโยชน์เหล่านี้แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรหรือ Overall Equipment Efficiency (OEE) การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักร รวมทั้งสะดวกต่อการอัพเกรดและการฟื้นฟูสมรรถภาพเครื่องจักรในอนาคตอีกด้วย
    4. Machine vision เนื่องจากความสลับซับซ้อนของชิ้นงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเลคโทรนิกส์ เครื่องมือแพทย์หรืออื่นๆ ทำให้การตรวจสอบด้วยสายตามนุษย์มีข้อจำกัด และไม่ตอบสนองความต้องการทั้งในด้านความถูกต้องแม่นยำ ความรวดเร็วและความน่าเชื่อถือ จึงทำให้การตรวบสอบทางสายตาแบบอัตโนมัติโดยใช้ภาพถ่ายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า หลักการของ Machine Vision ซึ่งทำงานโดยอาศัยเครื่องถ่ายภาพ (ทั้งภาพ 2D และ 3D) ความเร็วสูง เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่องสแกน และระบบการประมวลภาพ (Image Processing) Machine Vision จึงมีประโยชน์มากมายในกระบวนการผลิต เช่น การตรวจสอบชิ้นงาน การนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับ CAD และ CAM รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

     

    ลดไซเคิลไทม์เพื่อการเพิ่มผลผลิต (Short Cycle Time for Higher Productivity) ในโลกแห่งการแข่งขันความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการ การลดเวลาของรอบวงจรการผลิตหรือ (Manufacturing Cycle time) จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง แม้ว่าการลดเวลาดังกล่าวจะทำได้ง่ายด้วยการลงทุนเครื่องจักรใหม่และใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) แต่การลดไซเคิลไทม์โดยอาศัยการบริหารจัดการจากเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมผสมกับการใช้เทคนิคใหม่ๆ ย่อมเป็นการดีกว่า ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการผลิตสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ เช่น ซอฟ์ตแวร์จำลองการผลิต (Simulation) ซึ่งสามารถจำลองการผลิตได้ตั้งแต่ในระดับ Unit หรือ Cell ที่เป็นเครื่องจักร ระดับไลน์ของการผลิตที่ประกอบด้วยเครื่องจักรต่างๆที่ทำงานต่อเนื่องกันไปจนถึงภาพรวมของการผลิตทั้งหมดของโรงงาน ซึ่งซอฟ์ตแวร์จะนำเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น ผังการวางเครื่องจักรขั้นตอนการทำงาน ทิศทางการไหลของชิ้นงาน เพื่อให้เหมาะสมกับตัวแปรทางการผลิตของแต่ละโรงงาน เช่น จำนวน Output ที่ต้องการ จำนวนพนักงาน จำนวนชิ้นงานในแต่ละกระบวนการ (WIP) เวลาการเซ็ตอัพเครื่อง เวลาการทำงานของเครื่อง เวลาการตรวจสอบของ QC รวมทั้ง ลักษณะของล็อตผลิต เช่น จำนวนต่อล็อต (Volume) จำนวนของผลิตภัณฑ์ (Mix) และกระบวนการผลิตที่เป็นคอขวด เป็นต้น นอกจากนี้ ซอฟ์ตแวร์ระบบจำลองการผลิต ยังแสดงผลข้อมูลสมรรถนะของการทำงานจริงออกมาเป็นรายงานแบบเรียลไทม์ เช่น ยอดการผลิต ยอด WIP ที่กระบวนการต่าง ระดับคุณภาพ (Quality yield) ประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักร (Equipment utilization) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับหัวหน้างานในการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าเป็นไปตามกำหนด รวมทั้งการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอีกด้วย

     

    ความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา (Collaborative R&D)ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรทางธุรกิจจะต้องอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เราจะเห็นว่าบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักทั่วโลกล้วนต้องอาศัยหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and development; R&D) เป็นฝ่ายค้นคว้าและสร้างความแตกต่างทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบริการให้เหนือคู่แข่งตลอดเวลา บริษัท ซัมซุง โตโยต้า หรือ จีเอ็ม ใช้เงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐลงทุนในด้าน R&D ในแต่ละปี สำหรับบริษัทขนาดเล็กหรือกลางที่มีเงินลงทุนจำกัด การทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับองค์กรอื่น (Collaborative R&D) ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย และส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศโดยองค์กรภายนอกอาจเป็นบริษัทคู่ค้าบริษัททั่วไปที่มีเทคโนโลยีซึ่งเป็นเป้าหมาย มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานภาครัฐ เช่นสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอนว่างานด้านวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ของหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะ SME จึงต้องอาศัยการเรียนรู้จากหน่วยงานภาครัฐในระยะเริ่มต้น เพราะแม้งาน R&D จะมีประโยชน์มากมายแต่หากไม่บริหารจัดการให้ดีก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน ประโยชน์และข้อดีของการทำทำวิจัยและพัฒนาร่วมเช่นช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนในทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ระดับสูง อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการวิจัย ได้รับเทคโนโลยี และความรู้โดยไม่ต้องลงทุนสูง ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการตัดสินใจโครงการ ส่วนข้อเสียและความเสี่ยงของการทำวิจัยและพัฒนาร่วม คือ การสูญเสียความลับทางด้านเทคโนโลยี ความลับทางการค้า การสูญเสียเงินทุน เวลา ลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยควรเริ่มต้นด้วยการทำโครงการหรือโปรเจ็กต์ขนาดเล็กก่อน เมื่อเกิดความเข้าใจและความเชื่อใจซึ่งกันและกันมากขึ้นจึงค่อยดำเนินการในโครงการที่มีความสำคัญและมูลค่าสูงขึ้น

     

    มีแรงงานฝีมือที่หลากหลาย (Multi-skilled Labor for Flexibility) ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาที่ประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตต้องประสบในลักษณะที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยในอดีตเรามีปัญหาด้านทักษะความสามารถ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราได้พัฒนามาโดยตลอด จนในปัจจุบันเราสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงและคนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทางออกอย่างหนึ่ง คือ การฝึกอบรมให้แรงงานมีความสามารถในการทำงานหลายๆ ด้าน เช่น พนักงานในฝ่ายผลิตที่สามารถฝึกอบรมทั้งในด้านความรู้พื้นฐานและการปฏิบัติงานจริง (On-job training) ให้สามารถทำงานได้ในหลายกระบวนการผลิต หรือในส่วนของช่างเครื่อง ก็ควรให้โอกาสเรียนรู้และฝึกงานกับเครื่องจักรหลายๆ ประเภท ในหลายๆบริษัทยังให้ช่างได้ทำหน้าที่สลับหมุนเวียนระหว่างการควบคุมเครื่อง การทำ Maintenance และการทำโปรแกรมเพื่อให้ช่างเครื่องมีความรู้และความชำนาญอย่างรอบด้านที่เกี่ยวกับเครื่องจักร ประโยชน์ที่ชัดเจนคือการเพิ่มผลผลิต ลดการขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนด้านแรงงาน การที่มีพนักงานที่สามารถทำได้หลากหน้าที่จึงช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถเพิ่ม capacity ที่หน่วยงานใดเป็นพิเศษได้ทันที สามารถปรับเปลี่ยนแผนการผลิตตามความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทดแทนพนักงานที่เจ็บป่วยหรือลาหยุดประจำปี ซึ่งในอนาคตกฎหมายควบคุมกาจ้างงานจะต้องพัฒนาไปในทิศทางความต้องการของลูกจ้างเป็นหลัก การทำให้พนักงานมีความสามารถหลายด้านเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนเหล่านี้จะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ฉะนั้นเมื่อโรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นก็จะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากพนักงานมากขึ้นและแน่นอนว่าด้วยความสามารถที่มีมากขึ้นย่อมต้องมีค่าตอบแทนสูงขึ้น เป็นการสร้างขวัญกำลังใจต่อพนักงานในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้ในด้านความมั่นคงในด้านการผลิต

Sumipol-Calipers-ebook