มาตรวิทยากับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

จากนโยบายของรัฐบาลเรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development – EEC) และนโยบายในการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (5 S Curve + 5 New S Curve) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาหรือต่อยอดด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนระดับสูงเป็นพิเศษ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการอย่างครบถ้วนเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนเป็นพื้นที่สร้างคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้เกิดความเข้มแข็ง กระจายไปในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตเดิมของแต่ละอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวงก็จะต้องวางแผนงานโครงการตามที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับนโยบายในด้าน EEC นี้ด้วย

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กำหนดนโยบายที่จะสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางระบบคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) เป็นโครงการบูรณาการทุกหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี MSTQ (Metrology, Standard, Testing, Quality) ของประเทศ เช่น M (Metrology: สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ) S (Standard: สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ ยา เป็นต้น) T (Testing: กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้า เป็นต้น) Q (Quality: การมาตรฐานแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น) เนื่องจากอุตสาหกรรมอนาคต 5 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการตรวจวัดคุณภาพการผลิต และความแม่นยำของผลผลิตที่ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้นในแต่ละส่วนจะมีหน่วยงานย่อยที่จะคอยดูแลและให้การบริการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป อันได้แก่

 

1. M (Metrology) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานเดียวที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสถาปนามาตรฐานขั้นปฐมภูมิและการถ่ายทอดค่าความถูกต้อง ดังนั้น สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะต้องเตรียมมาตรฐานระดับปฐมภูมิ การยอมรับในระดับนานาชาติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการวัด การเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ วิธีการวัดมาตรฐาน และอื่นๆ ให้กับห้องปฏิบัติการสอบเทียบระดับรอง หรือห้องปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมาตรวิทยา

 

2. S (Standard) เป็นลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานในทุกๆ การผลิต มีหลายหน่วยงานและหลายกระทรวงที่ทำงานร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปตำมผลิตภัณฑ์ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รับผิดชอบด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับผิดชอบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยา และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการประมง การเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้จะยังคงรับผิดชอบ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม อนาคตให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้เร่งจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนมาตรฐานต่างๆ รองรับการเติบโตของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

 

3. T (Testing) เป็นลักษณะงานที่จะต้องให้การสนับสนุนด้านการทดสอบ ตรวจสอบ การรับรองระบบงาน ISO/IEC 17025 มีหลายหน่วยงานและต่างกระทรวงกัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปตามผลิตภัณฑ์ เช่น กรมวิทยาศาสตร์บริการและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้บริการทดสอบด้านผลิตภัณฑ์น้ำ เครื่องดื่ม อาหาร เกษตร และอื่นๆ เป็นต้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้บริการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านทดสอบ ISO/IEC 17025 ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้บริการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านทดสอบ ISO/IEC 17025 ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น

 

 

4. Q (Quality) เป็นลักษณะงานที่ให้การรับรองระบบงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ISO 9001, HACCP, ISO/IEC 17025, ISO 14001, ISO 18000 เป็นต้น มีหลายหน่วยงานและต่างกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน เช่น สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI: Management System Certification Institute (Thailand) การรับรองระบบงาน (NAC : National Accreditation Council) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สสร-OCB: Office of Certification Body) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการประมง การเกษตร เป็นต้น เนื่องจากระบบ MSTQ เดิมนั้นได้กำหนดหน่วยงานในหลายภาคส่วนให้เป็นไปตามภารกิจสำคัญของแต่ละกระทรวงซึ่งอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงาน ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและอนาคตประสบความสำเร็จ แต่ละฝ่ายจำเป็นจะต้องวางแผนและพัฒนาการบริการให้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น เร่งขับเคลื่อนระบบ NQI อย่างจริงจัง และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยงานต่างๆในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สามารถตอบสนองภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต่อไป

Sumipol-Automation-Solution