อุตสาหกรรมยานยนต์ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพราะตั้งแต่การผลิต การใช้งาน จนถึงการขจัดทำลายเมื่อหมดอายุ ทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตรถยนต์ต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น ประกอบกับความไม่มั่นคงของพลังงาน ราคาน้ำมันโลกที่มีความผันผวนและนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รวมทั้งผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนารถยนต์ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม นั่นคือ รถ Eco-car รถพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือก รถพลังงานไฟฟ้า รถไฮบริด และรถพลังงานไฮโดรเจน

 

รถเล็กประหยัดพลังงาน (Eco-car) รถ Eco-car เป็นรถยนต์เพื่อการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งสิ่งแวดล้อม การที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา นอกจากจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและปล่อยไอเสียน้อยลงแล้ว ในกระบวนการผลิตก็ใช้วัตถุดิบและพลังงานน้อยกว่ารถทั่วไปอีกด้วย โดยรถยนต์ Eco-car มีอัตรากินน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่น้อยกว่า20 กม./ลิตร และต้องผ่านมาตรฐานไอเสียรถยนต์ยูโร 4 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 120 กรัม/กม. (มาตรฐาน UN/ECE) ส่วนจุดด้อยของรถยนต์ประเภทนี้คือมันอาจไม่เหมาะกับบางสภาพจราจร เป็นต้นว่าความปลอดภัยในการขับขี่บนทางหลวง ในด้านเทคโนโลยี รถยนต์ Eco-car มีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และการคิดค้นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงเพื่อลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้มากที่สุด เนื่องจากขนาดที่กระทัดรัดของรถประเภทนี้ ทำให้เหมาะกับคนในสังคมเมืองและสภาพการจราจรที่คับคั่ง ประเทศไทยจึงได้ให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมสนับสนุนผู้ผลิตและออกมาตรการจูงใจต่อผู้บริโภค โดยในปัจจุบันได้ดำเนินมาถึงโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ซึ่งมีค่ายรถต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการรวม 10 ราย เป็นค่ายรถยนต์เก่าที่เคยเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์เฟส 1 ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ และโตโยต้า ส่วนรายใหม่ได้แก่ เชฟโรเลต ฟอร์ด มาสด้า โฟล์คสวาเกน และจีเอ็ม โดยตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 1.5 ล้านคัน

 

 

รถพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกจากก๊าซธรรมชาติ (Alternative Energy Car) พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกได้ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติมาหลายปีแล้ว และได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเกือบทุกค่ายผลิตรถยนต์ที่สามาถใช้นำมันเชื้อเพลิงทางเลือกได้ เช่น แก๊สโซฮอล์ (เบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล) และก๊าซธรรมชาติเหลว เช่น NGV การใช้เชื้อเพลิงแบบนี้ นอกจากผู้ใช้เองจะสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันลงได้แล้ว ยังเป็นการช่วยชาติประหยัดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง เพราะทั้งหมดนี้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด และยังเป็นการช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ปลูกพืชที่เป็นแหล่งวัตถุดิบเช่น อ้อย มันสำปะหลัง เมื่อปลายปี 2555 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กพช) ได้มีมติส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 โดยต่อไปจะเน้นการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เป็นหลักโดยมีเป้าหมายการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.0 ล้านลิตร/วัน ในปี 2558 และ 9.0 ล้านลิตร/วัน ในปี 2564

 

รถพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) รถพลังงานไฟฟ้าจัดเป็นรถพลังงานสะอาด (Zero-Emissions Vehicle) โดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนผ่านการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าแม้จะดีต่อสภาพแวดล้อมสูงสุดแต่มันก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ขนาดและความจุของแบตเตอรรีที่ทำให้เดินทางได้จำกัดต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ระยะเวลาในการชาร์จที่ค่อนข้างนาน และสถานีชาร์จก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะต้องอาศัยการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีรถพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในตลาดโลกจากค่ายรถใหญ่ๆ หลายยี่ห้อโดยมีผู้นำอย่าง จีเอ็ม นิสสัน ในปี 2556 ยอดจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก (ซึ่งรวมทั้งรถ Pure EV และ Plug-in hybrid EVs หรือ PHEVs) อยู่ที่ประมาณ 2 แสนคัน ซึ่งโตเท่าตัวติดต่อกันสองปี โดยตลาดหลักอยู่ในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แม้ว่ารถยนต์ประเภทนี้จะยังเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของยอดตลาดรถยนต์โลก แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะประเทศจีนที่คาดว่าจะเป็นอีกตลาดสำคัญของรถพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทาง IHS Automotive คาดการณ์ว่ายอดผลิตทั่วโลกในปี 2557 นี้จะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคัน หรือโตในอัตรา 67%

 

รถไฮบริด (Hybrid Car) ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายมองว่ารถไฮบริดเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดทั้งด้านการประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และตอบสนองความต้องการในการขับขี่ในชีวิตประจำวัน หลักการทำงานของรถยนต์ไฮบริดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิม และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยยังต้องใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นระบบหลักของการขับเคลื่อน แต่มีมอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่เสริมการทำงาน และแบตเตอรี่สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้าเพิ่มเข้ามารถยนต์ไฮบริดจึงยังต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนกับรถยนต์ทั่วไป แต่จากการที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยทำงาน ทำให้ประหยัดน้ำมันและมีระบบที่เข้ามาช่วยลดมลพิษจากไอเสียของรถยนต์ที่ปล่อยออกมาสู่ท้องถนน ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดได้รับการพัฒนาไปมาก อย่างเช่นรถไฮบริดรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Toyota Prius ที่สามารถประหยัดค่าพลังงานได้มากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดเดียวกันได้มากทีเดียว โดยเฉพาะการขับขี่ในเมืองที่มีสภาพการจราจรติดขัด โดยมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงที่ 22.5 กิโลเมตรต่อลิตรสำหรับการขับขี่ในเมือง และ 19.6 กิโลเมตรต่อลิตรสำหรับการขับขี่บนไฮเวย์ (EPA Fuel Economy Standards) และลดการปล่อยก๊าซเสียถึง 29% แต่อุปสรรคของรถยนต์ไฮบริดคือราคา โดยรถไฮบริดแบบฟูลไฮบริดจะมีราคาแพงกว่ารถยนต์ธรรมดารุ่นเดียวกันในราคาตั้งแต่ 5,000 ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้

 

รถพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicle) รถพลังงานไฮโดรเจน (FCV) ถือเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง (ทั้งแหล่งที่มาของพลังงานและการไม่ปล่อยไอเสีย) แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้มีราคาถูกลง หลักการทำงานของรถประเภทนี้คือ แท็งค์ไฮโดรเจนจะเปลี่ยนไฮโดรเจนเหลวเป็นกระแสไฟฟ้าไปเก็บที่ Fuel Cell ซึ่งเป็นลิเธียมแบตเตอร์รี่เพื่อจ่ายให้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถ การพัฒนารถประเภทนี้อยู่ที่ประสิทธิภาพการเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นกระแสไฟฟ้าและการเพิ่มขนาดบรรจุของแท็งค์ ส่วนอุปสรรคก็คือการวิ่งได้ระยะทางไม่ไกลและการลงทุนสถานีบริการไฮโดรเจน มีหลายค่ายรถยนต์ที่กำลังพัฒนารถประเภทนี้แต่ที่น่าสนใจคือค่ายโตโยต้า ซึ่งล่าสุดในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2013 ได้เปิดตัวคอนเซ็ปต์คาร์ Toyota FCV รถพลังงานไฮโดรเจนรุ่นใหม่ล่าสุดที่คาดว่าจะผลิตออกมาขายจริงในปี 2015 ซึ่งการเติมไฮโดรเจนแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงสามนาทีและสามารถวิ่งได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร

 

อนาคตรถประหยัดพลังงานในไทย สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาคนยังใช้รถประเภทประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก ทางภาครัฐจึงต้องมีมาตรการรณรงค์และสนับสนุนที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเช่นโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ที่มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เข้าร่วมโครงการมากขึ้น สำหรับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้านั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ดั่งที่นายเอกชัย รัตนชัยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า “จากเหตุการณ์พลังงานที่มีราคาสูงขึ้น 1–2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ที่ช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งหลายคนมองไปที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่ถ้ามองถึงความเหมาะสมกับพื้นที่ในประเทศไทย ค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากการจราจรที่ติดขัด เพราะรถพลังงานไฟฟ้ามีช่วงเวลาที่กำหนด รถก็มีสิทธิที่จะตายอยู่กลางทางได้โดยสถานการณ์ตอนนี้รถที่เหมาะกับภูมิประเทศคือ รถไฮบริดที่ใช้พลังงานจากการขับเคลื่อนโดยน้ำมันและเแบตเตอรี่ไฮบริด ซึ่งการนำทั้งสองระบบนี้มาใช้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

Sumipol-Automation-Solution