“ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ วิศวกรจะทำการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ และกำหนดสัญลักษณ์เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติต่างๆ ลงในแบบพิมพ์เขียว เนื่องจากเราไม่สามารถเขียนคำอธิบายลักษณะต่างๆ ลงในแบบพิมพ์เขียวได้เนื่องจากพื้นที่จำกัด และการสื่อสารระหว่างวิศวกรผู้เขียนแบบกับวิศวกรการผลิตอาจมีความคลาดเคลื่อน อีกทั้งการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบัน เราสามารถผลิต ณ ที่ใดๆ ในโลกก็ได้ ดังนั้นการเขียนแบบ โดยใช้ภาษากำกับจึงเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญ” ด้วยเหตุนี้การใช้สัญลักษณ์เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติเปรียบเสมือนภาษาสากลที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้เหมือนกัน เมื่อสามารถทำความเข้าใจในรูปแบบของ สัญลักษณ์เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติแล้ว ลำดับต่อมาเราต้องรู้ว่าจะทำการวัดชิ้นส่วนยานยนต์ให้มีความถูกต้องตามเกณฑ์กำหนดได้อย่างไรในขั้นตอนนี้เราจะต้องรู้ว่าเครื่องมือวัดละเอียดด้านมิติที่มีความเหมาะสมกับค่าความคลาดเคลื่อนของชิ้นงานที่เป็นไปตามข้อกำหนดใน ISO10012-1 หรือไม่ การกำหนดเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติ มีมาตั้งแต่ปี 1943 โดยได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างที่บรรดาผู้ผลิตทั้งหลายมีความยุ่งยากต่อการอธิบายรูปทรงเรขาคณิตและค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ของตน อีกทั้งยังพบว่าด้วยความไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนและครอบคลุมทำให้การตีความของแต่ละฝ่ายหรือแต่ละคนนั้นแตกต่างกันและผิดเพี้ยนจากความต้องการที่แท้จริงของเจ้าของชิ้นงานก่อให้เกิดความยุ่งยากและปัญหาตามมามากมาย เช่น สินค้าที่ผลิตไม่ตรงตามสเปค การผลิตที่ล้าช้า และขาดคุณภาพ

 


ดังนั้นประโยชน์ของ GD&T คือความสามารถในการสื่อความต้องการของชิ้นส่วนนั้นออกมาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและชัดเจน ทำให้เราสามารถส่งงานไปว่าจ้าง (Outsource) ให้ผู้ผลิตจากจากแหล่งต่างๆ ผลิตแทนเราได้ ความละเอียดของการอธิบายข้อกำหนดออกมาเป็นตัวเลขคณิตศาสตร์ ทำให้ชิ้นส่วนนั้นง่ายต่อการผลิตสะดวกต่อการตรวจสอบทางคุณภาพรวมทั้งการนำไปประกอบในขั้นตอนสุดท้าย (Final assembly)เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในบริษัทผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลกนั้น นอกจากบุคลากรฝ่ายเทคนิคที่เกี่ยวข้องการใช้แบบหรือพิมพ์เขียวโดยตรงแล้วแม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อยังต้องกำหนดให้มีความเข้าใจในเรื่อง GD&T อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในการหาผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์หรือ PCB ที่ผู้ซื้อจะต้องทราบว่าซัพพลายเออร์ที่เสนอตัวมานั้นสามารถผลิตงานได้ตามที่ข้อกำหนด (Engineering Requirements) หรือไม่เช่น ความหนาของแผ่นปริ้นขนาดรู Via hole เป็นต้น ดังนั้นหากฝ่ายจัดซื้อมีความเข้าใจเรื่อง GD&T ก็จะสามารถประหยัดเวลาในการหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะแนวโน้มในอนาคตที่จะต้องมีการแชร์ข้อมูลทางด้านวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์ร่วมกันมากขึ้นของบริษัทคู่ค้าตลอดทั้งซัพพลายเชน ยิ่งทำให้ GD&T เป็นเครื่องมือที่จำเป็นและขาดไม่ได้ นอกจากนี้ การที่บริษัทผู้ผลิตทั้งหลายมีความเข้าใจและใช้งาน GD&T ได้ตรงกัน ก็จะช่วยให้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากซัพพลายเออร์ต่างๆ สามารถใช้ร่วมกันและทดแทนกันได้ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพาร์ทและชิ้นส่วนที่เป็นวัตถุดิบของบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ปลายน้ำ จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการฝึกอบรมมาตรวิทยามิติแก่ภาคอุตสาหกรรม SMEs ของไทย ด้านการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เรื่องเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือ 5 ฝ่าย ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมและวิทยากรผู้สอน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านการวัดพร้อมเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายร่วม และบริษัท สุมิพล จำกัด ผู้ให้การสนับสนุนด้านสถานที่ฝึกอบรมและด้านการอำนวยการ โดยกำหนดจัดอบรมจำนวน 2 รอบ แต่ละรอบประกอบด้วย 3 หลักสูตรโดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมนี้เพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญ ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้ารับการอบรมกลุ่มอุตสาหกรรม โปรดติดตามเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติตอนที่ 2 ผมจะแนะนำสัญลักษณ์และความหมายของเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติ

คอลัมน์ Measure Expert เกิดขึ้นเนื่องจากหลายท่าน มีคำถามเกี่ยวกับการวัดด้านมิติ แต่ไม่รู้จะหาคำตอบได้จากที่ไหนหรือจะไปถามใคร สุมิพลฯ ได้รับเกียรติ อย่างสูงจาก อาจารย์อนุสรณ์ ทนหมื่นไวย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มาช่วยไขข้อสงสัยและแนะนำ Tips หากผู้อ่านสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษก็ขอเชิญสอบถามเข้ามาได้ที่ สุมิพลฯ จะพยายามหาคำตอบมาให้

 

อนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รักษาการหัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้คร่ำหวอดทางด้านงานมาตรวิทยาทางด้านมิติ มีผลงานทั้งการวิจัยและเป็นวิทยากรที่ได้รับความเชื่อถือในวงการมามากกว่า 20 ปี และเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรวิศวกรรมมาตรวิทยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

 

Sumipol-ebook-measuring