ฟิลเลอร์เกจ

เป็นเครื่องมือวัดที่ใช้ความรู้สึกของผู้วัดเป็นตัวบ่งชี้ การใช้ฟิลเลอร์เกจวัดชิ้นงานผู้วัดจะต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการใช้งานเป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่เริ่มใช้งานฟิลเลอร์เกจ วิธีการตรวจสอบว่าผู้วัดมีความชำนาญแล้ว คือ การใช้เกจบล็อกประกบกับชุดประกบกันให้ได้ขนาดตามความหนาของฟิลเลอร์เกจ หรืออาจจะใช้ไมโครมิเตอร์วัดนอกตั้งค่าให้ตรงกับตำแหน่งค่าความหนาของฟิลเลอร์เกจ จากนั้นผู้วัดทดลองสอดฟิลเลอร์เกจให้เข้าไปในช่องว่างที่กำหนดไว้และให้จดจำความรู้สึกถึงความฝืดเมื่อฟิลเลอร์เกจผ่านช่องว่าง เมื่อนำฟิลเลอร์เกจไปใช้วัดชิ้นงานใดก็ควรใช้ค่าความฝืดตามความรู้สึกของผู้วัด สำหรับผู้ที่ชำนาญแล้วจะสามารถใช้ฟิลเลอร์เกจนี้ให้มีความถูกต้องเทียบเท่าเครื่องมือวัดละเอียดอื่นๆ เช่น ไมโครมิเตอร์ เป็นต้น

ฟิลเลอร์เกจ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน JIS B7524:1992(1) พบว่ามีค่าความถูกต้อง ± 0.003 µm ถึง ± 0.010 µm (พิสัย 0.01 mm ถึง 3 mm) เพราะฉะนั้นเครื่องมือวัดที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการสอบเทียบฟิลเลอร์เกจได้จะต้องมีความถูกต้องดีกว่าความถูกต้องของฟิลเลอร์เกจอย่างน้อย 3 เท่า หรือ 10เท่า(2) นอกจากเงื่อนไขสำหรับค่าความถูกต้องแล้ว เครื่องมือวัดนี้จะต้องมีลักษณะด้านหนึ่งเรียบและด้านตรงข้ามเป็นแบบทรงกลม โดยจะต้องทำการวัด 5 ตำแหน่งเท่าๆกัน(3) และให้ครอบคลุมความยาวของฟิลเลอร์เกจ เมื่อนำค่าความหนาของแต่ละตำแหน่งมาเฉลี่ยก็จะได้ความหนาของชิ้นฟิลเลอร์เกจ แต่ถ้านำค่ามากที่สุดลบด้วยค่าที่น้อยที่สุดก็จะได้ค่าความโค้งของแผ่นฟิลเลอร์เกจ โปรดติดตามตอนที่ 2 วิธีการใช้ไดอัลเกจร่วมกับอุปกรณ์ส่งผ่านข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์แบบไร้สายเพื่อสอบเทียบฟิลเลอร์เกจแบบกึ่งอัตโนมัติ

คอลัมน์ Measure Expert เกิดขึ้นเนื่องจากหลายท่าน มีคำถามเกี่ยวกับการวัดด้านมิติ แต่ไม่รู้จะหาคำตอบได้จากที่ไหนหรือจะไปถามใคร สุมิพลฯ ได้รับเกียรติ อย่างสูงจาก อาจารย์อนุสรณ์ ทนหมื่นไวย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มาช่วยไขข้อสงสัยและแนะนำ Tips หากผู้อ่านสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษก็ขอเชิญสอบถามเข้ามาได้ที่ สุมิพลฯ จะพยายามหาคำตอบมาให้

หัวหน้าห้องปฏิบัติการความยาว และรักษาการหัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยามิติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้คร่ำหวอดทางด้านงานมาตรวิทยาทางด้านมิติ มีผลงานทั้งการวิจัยและเป็นวิทยากรที่ได้รับความเชื่อถือในวงการมามากกว่า 20 ปี และเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรวิศวกรรมมาตรวิทยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี