แท่นระดับเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในส่วนของการวัดชิ้นงานทางด้านมิติ

ในหลายๆอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นต้น การใช้งานของแท่นระดับทำหน้าที่เป็นระนาบอ้างอิงของชิ้นงานที่ต้องการวัดนั้นๆ การใช้งานของเครื่องมือประเภทนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความราบบนผิวหน้าใช้งานอย่างมาก และที่สำคัญเมื่อแท่นระดับผ่านการใช้งานไปช่วงเวลาหนึ่งความราบของแท่นระดับอาจเกิดการสึกหรอส่งผลทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

 

ความราบของผิวหน้าที่ใช้งานเมื่อเทียบกับแนวระนาบทางเรขาคณิต โดยนิยามความราบของแท่นระดับ เราจะเปรียบเทียบค่าสูงสุดและต่ำสุด (ผลต่าง) บนผิวหน้าด้านที่ใช้งาน (ด้านบน) นี้คือค่าของความราบของผิวหน้าใช้งานนั่นเอง

 

วัสดุที่ใช้ผลิตแท่นระดับในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ

 

แท่นระดับเหล็กหล่อ (Cast iron) มีลักษณะเฉพาะเป็นไปตามมาตรฐาน JIS-G-5501 แท่นระดับหินแกรนิต (Granite) มีลักษณะเฉพาะเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 8512-2 หรือ JIS B7513 ความแตกต่างระหว่างแท่นระดับเหล็กหล่อกับแท่นระดับหินแกรนิต – แท่นระดับเหล็กหล่อ หากมีวัสดุตกกระทบอาจทำให้เกิดจุดยุบตัวและอาจมีรอยนูนขึ้นมาได้ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุ, ขนาด, น้ำหนัก, และแรงที่กระทบ แท่นระดับเหล็กหล่อโครงสร้างด้านล่างจะมีลักษณะเป็นโครงกระดูกงู เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดน้ำหนัก

 

– แท่นระดับหินแกรนิต หากมีวัสดุตกกระทบอาจทำให้เกิดจุดยุบตัว หรือเกิดเป็นรอยแตก แต่จะไม่มีรอยนูนขึ้นขนาดของจุดยุบหรือรอยแตกขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุ,ขนาด, น้ำหนัก, และแรงที่กระทบ ลักษณะของแท่นระดับหินแกรนิตด้านล่างจะตันเพื่อความคงทน

 

คุณสมบัติของแท่นระดับหินแกรนิต

 

แท่นระดับหินแกรนิต เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการวัดงานที่เก็บรักษาได้ง่าย จึงเป็นที่นิยมใช้ในการวัดงานมากกว่าแท่นระดับที่ทำจากเหล็กหล่อ ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มผลิตแท่นระดับแกรนิตเมื่อปี 1957 ผลิตภัณฑ์ที่นำออกจำหน่ายในท้องตลาดมีชื่อว่า “Granite Surface Plates” โดยมาจากคำว่าหินแกรนิต (Granite) รวมกับแท่นระดับในภาษาอังกฤษ คือ Surface Plate

 

หินที่นำมาใช้ทำแท่นระดับมีคุณสมบัติแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของหิน ไม่ใช่ว่าหินทุกชนิดจะสามารถนำมาใช้ทำแท่นระดับหินได้ โดยเงื่อนไขสำคัญคือจะต้องมีสมบัติเฉพาะที่เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 8512-2 หรือ JIS B7513 กล่าวได้ว่าหินที่เหมาะสมที่จะทำแท่นระดับหินมากที่สุด คือ หินแกรนิตสีดำ (Black Granite)

 

ลักษณะพิเศษของแท่นระดับแกรนิตของบริษัทมิตูโตโย (Mitutoyo) ผลิตขึ้นจากหินแกรนิตธรรมชาติที่อยู่ในชั้นใต้ดินเป็นเวลานาน มีลักษณะเป็นสีดำ โดยคุณลักษณะเฉพาะของหินจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพตามกาลเวลาได้น้อยมาก หินแกรนิตจะมีสัมประสิทธิ์การขยายตัวของวัสดุน้อยกว่าเหล็กหล่อ รวมถึงไม่ส่งผลกระทบให้ชิ้นงานที่เป็นแม่เหล็กเกิดการเสียดสี

 

การจำแนกเกรดของแท่นระดับจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับมาตรฐานอ้างอิง เช่น

 

ตามมาตรฐาน JIS B7513 จำแนกเกรดของแท่นระดับหินแกรนิตออกเป็น 3 เกรดคือ Grade 0, Grade 1 และ Grade 2 แต่ละเกรดจะมีค่าความราบแปรผันกับขนาดและความหนาของแท่นระดับ ตามมาตรฐาน ISO 8512-2 จำแนกเกรดของแท่นระดับหินแกรนิตออกเป็น 4 เกรดคือ Grade 0, Grade 1 Grade 2 และ Grade 3 แต่ละเกรดจะมีค่าความราบแปรผันกับขนาดและความหนาของแท่นระดับ

 

ตามมาตรฐานของบริษัทมิตูโตโย (Mitutoyo) จำแนกเกรดของแท่นระดับหินแกรนิตออกเป็น 3 เกรด คือ Grade 00,Grade 0 และ Grade 1 แต่ละเกรดจะมีค่าความราบแปรผันกับขนาดและความหนาของแท่นระดับ ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐาน ISO 8512-2 หรือ JIS B7513

 

ได้ อ้างอิงจากข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 10012-1:1992 ข้อ 4.3 ในส่วนของข้อแนะนำ(Guidance) เป็นการเปรียบเทียบค่าความคลาดเคลื่อนที่มากที่สุด (Maximum permissible error: MPE) ระหว่างเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้กับค่า MPE โดยค่า MPE ของเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ควรมีค่า MPE ดีกว่า MPE ของเครื่องมือวัดหรือชิ้นงาน 3-10 เท่า

 

การเลือกเกรดของแท่นระดับหินแกรนิตที่เหมาะสมกับการใช้งานสามารถแบ่งได้ดังนี้

– Grade 00: เหมาะสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ (Calibration Laboratory)

– Grade 0: เหมาะสำหรับใช้ในห้องควบคุมคุณภาพ (Quality Control)

– Grade 1: เหมาะสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต

 

การใช้และการดูแลรักษา

 

การเลือกขาตั้งและฐานรองรับแท่นระดับหินแกรนิต ควรเลือกขาตั้งที่มีจุดรองรับ 3 จุด ซึ่งจะต้องวางให้ตรงกับจุดอ้างอิงที่ทำเครื่องหมายไว้ด้านล่างของแท่นระดับหินแกรนิตตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้

 

ก่อนใช้งานทุกครั้งควรทำความสะอาดแท่นระดับด้วยกระดาษทิชชู่หรือผ้าสะอาด และแอลกอฮอล์ โดยเช็ดทำความสะอาดไปในแนวทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากรอยขีดข่วน ตรวจสอบและทำความสะอาดเครื่องมือวัดที่ต้องใช้งานร่วมกัน รวมถึงตรวจสภาพการใช้งานของโต๊ะระดับว่ามีบริเวณที่มีรอยแตกบิ่นหรือไม่ เพื่อกำหนดพื้นที่ในการใช้งาน

 

หลังการใช้งานควรทำความสะอาดแล้วคลุมด้วยผ้า และหลีกเลี่ยงการวางชิ้นงานเครื่องมือวัด หรืออุปกรณ์ต่างๆไว้บนแท่นระดับ เพราะโครงสร้างบริเวณผิวหน้าที่ใช้งานอาจเกิดการยุบตัวได้ หรือควรตรวจสอบความถูกต้องของแท่นระดับตามช่วงเวลาที่กำหนด ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

 

 

งานบริการของบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่งตั้งในประเทศไทย สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือวัดละเอียดของ Mitutoyo ผู้ผลิตชั้นนำของโลก โดยมีบริการติดตั้งแท่นระดับแกรนิต และสอบเทียบ ณ สถานที่ติดตั้งเครื่องมือ (On-Site Service) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 แท่นระดับหินแกรนิต (Granite Surface Plate) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ร่วมกับเครื่องมือวัด เพื่อตรวจวัดชิ้นงานในอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์แท่นระดับแกรนิตจะต้องมีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง และมีโครงสร้างของขาตั้งที่ได้มาตรฐานมีความแข็งแรง ทนทานเป็นพิเศษ ควรได้รับการติดตั้งโดยผู้ชำนาญการ เพื่อให้การวัดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงกำหนดมาตรฐานช่างติดตั้งโต๊ะระดับหินแกรนิตขึ้น ตามประกาศในพระราชบัญญัติการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยทางบริษัท สุมิพลฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานช่างติดตั้งโต๊ะระดับหินแกรนิตขึ้นเฉพาะสถานประกอบการ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความสามารถของผู้ชำนาญงานที่ให้บริการอย่างครบวงจร