การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและถูกจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์โลก วันนี้เศรษฐกิจโลกยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากสภาวะตกต่ำ สำหรับประเทศไทย ยังประสบปัญหาทั้งด้านภัยธรรมชาติและความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาทำให้ยอดการผลิตลดลง ประกอบกับการเติบโตในอุตสาหกรรมเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตของไทยเช่นเดียวกัน

 

ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมากยิ่งขึ้น Blue Update ได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยและความพยายามของภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมกันกอบกู้และปรับทิศทางเพื่อการเจริญเติบโตแบบยั่งยืนของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

 

ยอดขายภายในลดแต่ส่งออกเพิ่ม

สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำรวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความต้องการรถยนต์ภายในประเทศ เกี่ยวกับตัวเลขข้อมูลการผลิตและยอดจำหน่ายรวมทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยหลักของสถานการณ์นี้คุณอัชณา ได้กล่าวกับทีมงาน Blue Update ว่า“ตัวเลขตั้งแต่มกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมของปี 2557 นี้ยอดผลิตรวมของรถยนต์ทั้งรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มีทั้งสิ้น 1,134,930 คัน เป็นรถยนต์นั่งประมาณ 40% และกระบะ 60% โดยลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29% ในจำนวนนี้เป็นยอดขายภายในประเทศ 510,400 คันลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 39 ที่เหลือเป็นยอดส่งออกคือ 624,540 คัน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4 (แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9)”

 

เมื่อสถานะการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้ไทยจำเป็นต้องพิ่งพาการส่งออกมากขึ้น โดยในประเด็นนี้นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้ให้รายละเอียดว่า “เมื่อพูดถึงการส่งออกทั้งหมด (รถยนต์และชิ้นส่วน)ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณหนึ่งล้านล้านบาทต่อปีถือว่าเรายังไปได้ดี โดยมีประเทศส่งออกปลายทางของชิ้นส่วนห้าอันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ตลาดส่งออกใหม่ของชิ้นส่วนคือ บราซิล อัฟริกาใต้ และอินเดีย ส่วนตลาดส่งออกใหม่ของรถยนต์คือประเทศในเอเซีย กลุ่มโอเชียนเนียและตะวันออกกลางที่เป็นตลาดใหญ่

 

ยุทธศาสตร์ของสถาบันยานยนต์

สถาบันยานยนต์ได้ออกแผนแม่บทเพื่อกำหนดทิศทางการก้าวย่างใหม่ของยานยนต์ไทย โดยคุณอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยท่านยังทำหน้าที่เป็นกรรมการคณะกรรมการอำนวยการสถาบันยานยนต์อีกด้วย ซึ่งมีส่วนในการนำแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ “สถาบันยานยนต์ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้ออกแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลกด้วยห่วงโซ่อุปทานที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมียุทธศาสตร์หลักความเป็นเลิศ ใน 3 ด้านและสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำเนินธุรกิจที่ดี 2 ประการ

 

ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศทั้ง 3 ด้าน

1) ความเป็นเลิศในด้านเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจากการพัฒนาเทคโนโลยีและงานวิจัยเพิ่มเติม
2) ความเป็นเลิศในด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มความ สามารถในการแข่งขันจากการยกระดับฝีมือแรงงานสู่การมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานระดับสูงและระดับวิศวกรตลอดจนบุคลากรในด้านบริหารจัดการที่มีความสามารถให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อเตรียมรองรับอัตราการขยายตัวและเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ระดับโลก
3) เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันจากการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตามแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตและสภาวะการแข่งขันทางการค้าโลกที่สูงขึ้นโดยเน้นในเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพในการบริหารการผลิตและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

 

 

ส่วนการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจที่ดี 2 ประการได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในทั้งสามด้านตามแผนยุทธศาสตร์หลักซึ่งได้แก่ ศูนย์ทดสอบและการวิจัยพัฒนายานยนต์ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ และสถาบันพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมยานยนต์ 2) กฎระเบียบนโยบายภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก ตลอดจนการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

BOI ปรับทิศทางส่งเสริมการลงทุน

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้มีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งในประเด็นนี้คุณอัชณาได้ให้รายละเอียดว่า“นโยบายการส่งเสริมการลงทุนภายใต้คณะรัฐบาลใหม่ได้ออกยุทธศาสตร์ใหม่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 ซึ่งจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใน 9 หมวด

 

โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะอยู่ในหมวดที่ 4 คือ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งโดยประเด็นหลักๆ ได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานโดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหรือชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต ไฮบริดหรือรถไฟฟ้า การส่งเสริมการสร้างโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ซึ่งอาจเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่(บิ๊กไบค์) หรือไม่ก็เป็นรถบรรทุกและรถยนต์โดยสาร และการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับการขนส่งอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน อุตสาหกรรมต่อเรือ เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้นโยบายใหม่ของ BOI ยังได้ปรับเปลี่ยนดัชนีชี้วัด (KPI) สำหรับผู้มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ ต้องเป็นการลงทุนที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาต้องเป็นการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล และต้องเป็นการลงทุนที่ช่วยส่งเสริมให้เกิด Cluster ใหม่ๆ ในภูมิภาค และสุดท้ายต้องส่งเสริมให้เกิดการไปลงทุนในต่างประเทศ คือการลงทุนที่ทำให้อุตสาหกรรมนั้นๆมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้”

 

เสริมศักยภาพให้ SMEs

ในโอกาสที่รัฐบาลปัจจุบันได้เห็นความสำคัญและกำหนดให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็น “วาระแห่งชาติ”คุณอัชณาในบทบาทที่เป็นคณะกรรมการในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์และมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ว่า “การให้ความสำคัญกับ SMEs จนเสนอเป็นวาระแห่งชาติได้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs อย่างเป็นรูปธรรมโดยได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนในสามด้านด้วยกัน คือ หนึ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ให้ได้เป็นร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือ GDP สอง ยกระดับ SMEs ไทยให้มีความทันสมัยและเป็นสากล สาม บูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs”

 

เทคโนโลยีการผลิตภายในอาเซียน

เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานมลพิษจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตทั้งในระดับโลกและภูมิภาค ทำให้อาเซียนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงจำเป็นที่เราต้องเข้าใจและรู้แนวโน้มในอนาคตของประเทศเพื่อนบ้านโดยในเรื่องนี้คุณอัชณาได้กล่าวกับทีมงาน Blue Update ว่า“ หลังการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี พ.ศ. 2556 อาเซียนผลิตรถยนต์ได้มากถึง 4.3 ล้านคัน โดยมีไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แม้ในปีนี้ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์น้อยลง แต่อินโดนีเซียและมาเลเซียน่าจะผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่กำลังซื้อภายในประเทศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันอินโดนีเซียเน้นการผลิตรถยนต์ประเภท MPV และรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีการผลิตรถซีดานขนาดเล็กและรถประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานทางเลือก ในขณะที่ประเทศมาเลเซียก็ได้ออกนโยบายที่เรียกว่า Green Initiative เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้กับรถประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เช่น รถไฮบริด รถไฟฟ้า

ในโอกาสสุดท้าย เราได้เรียนถามคุณอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ว่าในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับวงการรถยนต์บ้านเรามาอย่างยาวนานท่านมีความกังวลต่อสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยขณะนี้อย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า“ทางสมาคมฯได้มีการประชุมร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ประจำทุกเดือน และสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้ผลิตรถทุกค่ายคือทุกคนยังมองด้วยความมั่นใจว่าปีหน้า 2558 ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ปกติ” เมื่อได้ยินความมั่นใจจากนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและผู้ประกอบการของภาคเอกชนเช่นนี้ ประกอบกับมาตรการต่างๆที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐเอกชนและสมาคมต่างๆเชื่อแน่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยจะต้องกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

Sumipol-Automation-Solution