ในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาความไม่เรียบร้อยทางการเมือง เป็นผลให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของการส่งออกหนึ่งในสี่ตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดคำถามมากมายว่าประเทศไทยจะยืนอยู่จุดไหนในเวทีโลกและอะไรคือทางออกของประเทศในเวลานี้

 

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าปัญหานี้เป็นความเสี่ยงที่ไม่ต่างจากวิกฤติครั้งสำคัญที่ผ่านมา ทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ในความกังวลดังกล่าว ก็มีข่าวดีที่เป็นปัจจัยสำคัญของการส่งออก นั่นคือการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งเศรษฐกิจที่ยังมีการเติบโตของประเทศจีน ประกอบกับความคึกคักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นทั้งฐานการผลิตที่สนับสนุนเชื่อมโยงและเป็นตลาดที่สำคัญของไทย เมื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศแล้ว เวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมและเอื้อต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาคการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน นั่นคือการยกระดับขึ้นเป็น High Performance Manufacturers หรือผู้ประกอบการผลิตชั้นเลิศ พร้อมรองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดกว้างหลังจากนี้

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Deloitte ได้ออกรายงานชิ้นหนึ่งมีชื่อว่า Exceptional Company Research ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกมากมายรวมถึง Strategic Management Journal และ Harvard Business Review รายงานนี้เป็นการสำรวจและวิเคราะห์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด มุมมอง และบทบาทของผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในองค์กรภาคการผลิตที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ซึ่งสามารถสรุปเป็นกฎการสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจภาคการผลิต ที่เรียกว่า The Three Rules: How Exceptional Companies Think คือ
1. Better before cheaper : ไม่แข่งขันด้านราคา แต่แข่งขันด้วยคุณค่า
2. Revenue before cost : สร้างผลกำไรจากราคาและยอดขายที่สูง ไม่ใช่การลดต้นทุน
3. There are no other rules : ปฏิบัติตามกฎสองข้อข้างบนอย่างเคร่งครัด

กฎข้อที่ 1 การมุ่งเน้นพัฒนาสินค้าและบริการของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณค่าของสินค้าและบริการและสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การผลิตชิ้นส่วนที่มีความแม่นยำสูง โดยผู้ผลิตสามารถควบคุมคุณภาพในระดับ Six Sigma ซึ่งจะทำให้มีของเสียจากการผลิตไม่เกิน 3.4 ชิ้นในจำนวนการผลิต 1 ล้านชิ้น (3.4 defective parts per million) ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจและสามารถนำชิ้นส่วนดังกล่าวไปใช้ในไลน์การผลิตได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจคุณภาพอีกครั้ง เป็นการลดขั้นตอนการทำงานและลดแรงงานให้กับลูกค้า
ส่วนกฎข้อที่ 2 การมุ่งเพิ่มรายได้จากการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าหรือราคาสูงและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก มากกว่าการลดต้นทุน จริงอยู่ที่การลดต้นทุนในการผลิตเป็นสิ่งจำเป็น แต่ผู้บริหารสมัยใหม่ต้องไม่ติดกับดักตรงนี้ การที่ผู้บริหารเอาเวลาและทรัพยากรมาคิดหาวิธีการที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายก็จะทำให้โอกาสในการสร้างความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเพิ่มศักยภาพของกระบวนการผลิตก็จะไม่เกิดขึ้น บริษัทก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้จากยอดขายได้ ทั้งยังอาจทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงาน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการผลิต จากเดิมที่เราอาศัยข้อได้เปรียบในด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ ราคาถูก แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป เทคโนโลยีและความสามารถที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับภาคการผลิตในอนาคต
• การวิจัยและพัฒนา(R&D) เราอาจคุ้นเคยสิ่งนี้แต่กับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ในแต่ละปีจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่งในอนาคต แต่ความจริงแม้แต่
“บริษัทระดับ SMEs ก็สามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาได้ ความจริงแล้ว R&D ก็คือการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วผลิตภัณฑ์ของเรานั้นเป็นอย่างไรมีจุดไหนที่ยังด้อยอยู่หรืออาจปรับปรุงให้ดีขึ้นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเพิ่มได้อีก การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นตอนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือลูกค้าจะได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างประสบการณ์ใหม่ หรือเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจมากขึ้น”
• ระบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นระบบที่นำมาช่วยให้การทำงานในสายการผลิตเป็นแบบบูรณาการและมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยระบบอัตโนมัติจะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างคนกับเครื่องจักร หรือระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักรเพื่อให้เกิดการไหลของวัตุดิบและผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว เพิ่มอัตราการทำงานของเครื่องจักร นอกจากระบบอัตโนมัติจะช่วยลดการพึ่งพาแรงงานและปรับปรุงประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้กระบวนการผลิตมีความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้พนักงาน โดยเฉพาะในกระบวนการที่อันตราย
• ซอฟต์แวร์สำหรับการผลิต ทั้งการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Aided Design,CAD) และ การผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-aided Manufacturing,CAM) ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจาการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงขึ้นและมีราคาที่ไม่แพงเกินไป ทำให้ทั้งการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และการผลิตทำได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเที่ยงตรงแม่นยำและลดความผิดพลาด เป็นผลให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดจำนวนแรงงานฝีมือได้
• กระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเป็นแค่แนวทางการทำ CSR เท่านั้น สำหรับบริษัทด้านอุตสาหกรรมของประเทศที่เจริญแล้วจะให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างมาก ฉะนั้นการจะทำให้แนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงผู้ผลิตจะต้องมาพิจารณาประยุกต์เข้ากับกระบวนการทำงานออกแบบการผลิตและการส่งมอบ ที่สำคัญผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีความเชื่อมั่น เพราะได้พิสูจน์มาแล้วว่ากระบวนการผลิตที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาว

“การเตรียมตัวรองรับเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการผลิตก็เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการพิจารณาด้วยเหตุผลที่ชัดเจนก่อนการลงทุนว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นมีความเหมาะสมสำหรับกิจกรรมที่เป็นแกนของธุรกิจของบริษัท สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต และทิศทางการเติบโตของบริษัทแล้ว องค์กรยังต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเทคโนโลยีเอง”

• เพิ่มผลผลิตได้ด้วยศักยภาพของบุคลากร เพื่อให้ได้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีนั้น จะต้องมีพนักงานที่สามารถใช้เครื่องจักรและทำการบำรุงรักษาเพื่อให้ทำงานสนองความต้องการในการผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นการลงทุนที่แตกต่างจากการลงทุนด้านอื่นๆ ทั้งหมด การลงทุนโดยการให้ความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญกับบุคลากรของบริษัท เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหมดอายุ แต่กลับมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนคือผู้ขับเคลื่อนที่แท้จริง ดังจะเห็นได้ว่าในงบประมาณจำนวนมหาศาลที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมของโลกทุ่มเทให้กับการพัฒนาและวิจัย หรือ R&D ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนด้านนี้มีผลโดยตรงต่อการเติบโตขององค์กร จากการสำรวจ Top 20 R&D Spenders 2005-2013 โดยทีมงานระดับโลกของนักปฏิบัติการยุทธศาสตร์ Strategy& [Formerly Booz & Company] พบว่าในปี 2013 บริษัทชั้นนำของโลก 20 แห่งทั้งวงการยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเลคโทรนิคส์ การแพทย์และสุขภาพ และอื่นๆ ทุ่มงบประมาณในด้านนี้รวมกันถึง 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทที่ลงทุนด้านนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้แก่ โตโยต้า ซัมซุง และ โรช ซึ่งส่วนใหญ่ของเม็ดเงินจำนวนนี้เป็นการลงทุนสร้างผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของตน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สำหรับบริษัทขนาดกลางหรือเล็ก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายที่ดูแลการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะเปลี่ยนไป การจ้างพนักงาน ดูแลค่าตอบแทนพื้นฐานฝึกอบรม แล้วส่งเข้าไลน์การผลิตจึงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่องค์กรด้านการผลิตในอนาคตจะต้องให้การศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา การพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพ และการพัฒนาองค์กรควบคู่ไปด้วย

 

 

โครงสร้างองค์กรและการสื่อสารที่เป็นสากล คุณสมบัติอีกประการในการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ประกอบการชั้นเลิศนั่นคือ ความสามารถในการสื่อสารที่เป็นสากล ดังนั้นผู้ประกอบการผลิตที่ต้องการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นสากล ทั้งการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและความสามารถในการเจรจาทางธุรกิจ จุดอ่อนที่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตหลายราย โดยเฉพาะ SMEs ต้องเสียโอกาสในการได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายสำคัญคือภาษา ไม่เพียงแต่ระดับผู้บริหารที่จะต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีแล้ว ระดับผู้ปฏิบัติการอย่างเช่นวิศวกรก็ควรมีความสามารถในการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจ เพราะว่างานหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Engineering Change Order) ทั้งรูปแบบดีไซน์และฟังก์ชันการทำงาน ดังนั้นหากวิศวกรสามารถสื่อสารและใช้ภาษาได้ดี ก็จะสร้างความมั่นใจต่อลูกค้าว่าได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ การมีองค์กรที่มีรูปแบบการทำงานที่ทันสมัยแบบสากลนั้นคือ มีผังองค์กร (Organization chart) ที่แบ่งฟังก์ชันการทำงานและกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ โดยทั่วไปบริษัทหรือองค์กรด้านการผลิต จะต้องมีฝ่ายการผลิต ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายจัดการวัตถุดิบ (มักรวมหน่วยงานจัดซื้อ วางแผนการผลิตการจัดส่ง และสินค้าคงคลัง) เป็นอย่างน้อย

 

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ซัพพลายเชน ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทาน มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของทุกองค์กร เราจะเห็นว่ากว่าที่สินค้าจะถูกส่งจากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภคจะต้องผ่านกลุ่มต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก จนถึงผู้บริโภค ความสำคัญที่ผู้กระกอบการผลิตมีต่อซัพพลายเออร์ผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือ Materials ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4M ของกระบวนการผลิต หากผู้ผลิตสามารถควบคุมซัพพลายเออร์ได้ดี จะทำให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ราคา และในเวลาที่ต้องการ ตรงตามการวางแผนการผลิต นำไปสู่การเพิ่มยอดผลิตและเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต และเมื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จแล้ว การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าโดยเร็วทำให้มีกระแสเงินสดหรือ Cash flow ที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายแฝงให้กับผู้ผลิต เช่นลดพื้นที่การจัดเก็บและค่าการดูแล

ในการสร้างความมั่นคงของซัพพลายเชน สิ่งที่ผู้ประกอบการผลิตต้องคำนึงถึงคือ การกำหนดแผนงานทางธุรกิจของตนให้ชัดเจนและพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริษัทคู่ค้า เช่นการใช้ Category Management ร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์เพื่อแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ผลิตสามารถรู้ Forecasted Demand ของลูกค้าและสามารถช่วยการจัดส่งแบบ Just in Time ที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า นอกจากนี้ หากมีการทำงานงานร่วมกันระหว่างฝ่ายผลิตของบริษัทคู่ค้า ก็จะสามารถลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ให้สามารถใช้ร่วมกันทั้งส่วนที่เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จการปรับเวลาในการส่งมอบเพื่อใช้รถขนส่งร่วมกัน หรือลดจำนวนเที่ยวการขนส่งรวมถึงการมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีมีปัญหาคุณภาพของสินค้า

เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังเหตุการณ์วิกฤติทุกครั้งจะเป็นแบบก้าวกระโดด แท้ที่จริงคือการปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ (Reset) ขององค์ประกอบต่างๆ ของภาคเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ เป็นการจัดระเบียบใหม่เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่ ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นโอกาสทองอย่างแท้จริงของผู้ประกอบการผลิต ที่จะได้ทำการยกระดับความสามารถของตนสู่ความเป็นเลิศในการผลิต

Sumipol-Automation-Solution