เปิดโลกทัศน์ใหม่การลงทุน “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development – EEC)
ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นข่าวที่โจษขานมาตั้งแต่กลางปี 2559 ต่อมาได้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองของผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และต้องถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของการลงทุนที่ท้าทาย หลังจากเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวติดต่อกันมาหลายปี สร้างความดึงดูดต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างมาก หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ในการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Mega Project เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่สนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ท่าเรือน้ำลึก การจัดตั้งเมืองใหม่หลายแห่ง โดยกำหนดเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ขณะนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ก่อนกลางปี 2560 นี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้างว่าโครงการนี้จะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จเต็มรูปแบบตามแผนที่กำหนดไว้
การจัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ของบีโอไอ
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้มีการจัดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ขึ้น โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงานด้วยตนเองพร้อมทีมงานรัฐบาลทุกฝ่ำย ได้มีการชี้แจงถึงแนวคิดและรายละเอียดทุกขั้นตอนของโครงการนี้ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมอย่างแน่นขนัดถึง 3,000 คน ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดงบประมาณในการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท สำหรับ 6 โครงการสำคัญ โดยเฉพาะโครงข่ายการคมนาคม ภายใน 5 ปีแรก [ดูแผนที่ประกอบ]
1. รถไฟความเร็วสูง (High-Speed Train) เชื่อมต่อสนามบินนานาชาติทั้ง 3 แห่ง สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ผ่าน 3 จังหวัดของโครงการ
2. รถไฟทางคู่ (Double Track Railway Industrial-Port) จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เชื่อมสู่ ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ
3. ขยายมอเตอร์เวย์ (Motorway Bangkok-Pattaya-Rayong) เชื่อมต่อจากเดิมกรุงเทพ-พัทยา ไปถึงระยอง
4. ขยายสนามบินอู่ตะเภา (U-Tapao International Airport) ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ รองรับนักธุรกิจและผู้โดยสารในอนาคตได้ 30 ล้านคนต่อปี
5. ขยายท่าเทียบเรือน้ำลึก ทั้ง 2 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมฉบัง (Laem Chabang Port) สำหรับขนส่งตู้สินค้าและรถยนต์ท่าเรือมาบตาพุด (Map Ta Phut Industrial Port) สำหรับลำเลียงสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ
6. เนรมิตเมืองใหม่ 5 แห่ง (5-New Cities and Communities) สู่มหานครใหม่ด้วยการจัดวางระบบผังเมืองสมบูรณ์แบบ ทันสมัย สอดคล้องการดำเนินชีวิต ธรรมชาติการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
และยังมีโครงการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบ เช่น ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือเฟอรี่เชื่อม 2 ฝั่งอ่าวไทย เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ (Digital Park Thailand) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนใหม่ อำนวยความสะดวกทุกด้านที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดการแข่งขัน โดยคาดหมายว่าจะมีการขยายตัวของประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจาก 2.4 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 13.5 ล้านคนภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า ยกระดับต่อยอด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศอยู่แล้ว มีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้ขยายฐานการผลิตได้อย่างมหาศาล จึงมีการกำหนดเป้าหมายให้ขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสูง (First S-curve) และสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่สำหรับอนาคต (New S-curve) พร้อมผลักดันให้มีการขยายนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 10 กลุ่ม ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เดินหน้าปรับปรุงและออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน 2 ฉบับ เพื่อเร่งให้การลงทุนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว คือ
1. ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้นหลายด้าน
2. ออกพระราชบัญญัติกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในกิจการที่สนับสนุนเพิ่มเติมจากข้อ 1. อีกหลายประการ
สรุปสิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับโครงการที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายใต้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว รัฐบาลได้ถือโอกาสเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค โดยให้การส่งเสริมการลงทุนพร้อมสิทธิประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน ตามกิจการดังต่อไปนี้
• ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี • ยกเว้นอากรขาเข้า
สำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และของที่นำเข้ามาเพื่อการวิจัยและพัฒนา
• เงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
• อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
• สิทธิ์การเช่าที่ดินราชพัสดุถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี
• อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% ต่ำที่สุดในอาเซียน สำหรับผู้บริหารชาวต่างชาติของบริษัทที่มาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์บริหารเงินหรือศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาค
• ระบบ One-stop Service อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ให้บริการข้อมูลข่าวสาร การขออนุญาต ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ การค้า การส่งออก นำเข้า ในจุดเดียว
• วีซ่าทำงาน 5 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
1. สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters) ด้านการบริหารธุรกิจ การวิจัยและพัฒนาการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน การพัฒนาบุคลากร และการวางแผนการลงทุนในภูมิภาค
2. บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Companies) ให้บริการด้านการจัดหาสินค้า การจัดทำหีบห่อบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการประกันภัยสินค้าให้คำปรึกษาแนะนำด้านเทคนิค
3. ศูนย์การบริหารการเงิน (Treasury / Financial Centres) ทำหน้าที่บริหารการเงินตราต่างประเทศให้บริษัทในเครือข่าย ดูแลสภาพคล่อง การลงทุน การแลกเปลี่ยนและกู้ยืมเงิน
การจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุนจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อให้โครงการอีอีซีเดินหน้าอย่างราบรื่นรวดเร็ว รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการการลงทุนในรูปแบบ One Stop Service ภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยระดมสรรพกำลังที่เกี่ยวข้องพร้อมให้บริการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จที่เดียว โดยแต่งตั้งนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
ความหวังสำคัญของรัฐบาลในโครงการนี้คือ เมื่อภาครัฐเดินหน้าลงทุนแล้ว คงเหลือแต่เพียงต้องเร่งภาคเอกชนให้ตัดสินใจลงทุน โดยมีความเชื่อมั่นว่าโครงการอีอีซี เป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นสามารถแข่งขันกับทุกประเทศใน AEC เกิดเม็ดเงินลงทุนออกมาหมุนเวียนต่อจากแผนกระตุ้นและช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อไป รวมถึงเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
ซึ่งเป็นแกนหลักของโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ จะช่วยต่อยอดจากรากฐานเดิม สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางธุรกิจการค้าให้แก่นักลงทุน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทุกคน