ศักยภาพในการผลิตที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ หนึ่งในสิ่งที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องการ เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลกได้ โดยมีกระบวนการสอบเทียบเครื่องมือวัดเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอยู่เสมอ

สำหรับเครื่องมือวัดที่ใช้งานไปแล้วในระยะหนึ่ง ค่าจากการวัดจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยแวดล้อม ได้แก่ ระยะเวลาการใช้งาน อุณหภูมิ ไฟฟ้า เคมี ที่ส่งผลให้เครื่องมือวัดเสื่อมสภาพ และบอกค่าการวัดการคลาดเคลื่อนไปจากเดิม เมื่อเครื่องมือวัดอยู่ในสภาวะที่เสื่อมสภาพจะทำให้ผลจากการวัดที่มีความน่าเชื่อถือน้อยลง และส่งผลต่อคุณภาพของกระบวนการผลิตที่ลดลง

รูปที่1 ภายในบทความ สอบเทียบเครื่องมือวัด

การสอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) เป็นการตรวจสอบสภาพการทำงานและความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ ด้วยการสอบเทียบเครื่องมือวัดตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 เพื่อให้เครื่องมือที่ผ่านการสอบเทียบกลับสู่การใช้งานที่เป็นมาตรฐานอีกครั้ง

สำหรับบทความนี้จะนำเสนอความสำคัญของการสอบเทียบเครื่องมือวัดตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เครื่องมือวัดในกระบวนการผลิตสามารถนำไปใช้งานได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

การสอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) คืออะไร

การสอบเทียบเครื่องมือวัด เป็นกระบวนการยืนยันความถูกต้องและแม่นยำของเครื่องมือวัด ด้วยการทดสอบเครื่องมือในห้องปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่มีประสบการณ์สูง เมื่อเครื่องมือวัดผ่านการสอบเทียบจะได้หลักฐานเป็น “ใบรับรองผลการสอบเทียบเครื่องมือวัด” ที่แสดงผลจากการสอบเทียบ และความไม่แน่นอนของการวัดที่สามารถสอบกลับสู่หน่วย SI Unit ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้

Note : การสอบกลับได้ (Traceability) คือสมบัติของผลการวัดที่สามารถโยงไปกับมาตรฐานแห่งชาติที่เป็นที่ยอมรับโดยการเปรียบเทียบกันอย่างไม่ขาดช่วง เป็นลูกโซ่ และจะต้องรายงานค่าความไม่แน่นอนของการวัดด้วย

ผลของการสอบกลับได้จะช่วยรักษาประโยชน์ทั้งในฝั่งของผู้ผลิตที่สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าในระหว่างการผลิต และผู้จัดซื้อก็มีความมั่นใจในสินค้านั้นเนื่องจากสินค้าที่ซื้อมานั้นมีการรับรองที่เป็นมาตรฐานสากลในระหว่างกระบวนการผลิต

ทำไมต้องสอบเทียบเครื่องมือวัดด้วย ISO/IEC 17025

ISO/IEC 17025 เป็นมาตรฐานสากลที่ว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและปฏิบัติการสอบเทียบ ที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ISO (International Standards Organization) และคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน สาขาอิเล็กทรอนิกส์ IEC (International Electrotechnical Commission)

โดยมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ดูแลครอบคลุมไปถึงระบบบริหารคุณภาพห้องปฏิบัติการ ข้อกำหนดด้านบริการ ข้อกำหนดด้านวิชาการ รวมถึงปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการดำเนินการสอบเทียบ ทำให้เครื่องมือวัดที่ได้รับการสอบเทียบด้วยมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จะเป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในตลาดสินค้าของนานาชาติ ทำให้ผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศที่มีใบรับรองผลการทดสอบนี้ ไม่ต้องทำการทดสอบสินค้าซ้ำอีกในประเทศคู่ค้า ช่วยให้ประหยัดต้นทุนทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าเป็นอย่างดี

จะรู้ได้อย่างไร ว่าถึงเวลาสอบเทียบเครื่องมือวัดแล้ว

สำหรับเครื่องมือวัดที่ใช้งานอยู่เป็นประจำถ้าไม่เกิดความเสียหาย หรือให้ข้อมูลการวัดที่ถูกต้องสม่ำเสมอก็ยังไม่จำเป็นต้องนำไปสอบเทียบ แต่เมื่อใดก็ตามที่เครื่องมือวัดเริ่มให้ข้อมูลการวัดที่ผิดพลาดไปจากค่าเดิมที่กำหนดไว้ หรือผลจากการวัดเริ่มสร้างผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ก็ถึงเวลาที่ต้องนำเครื่องมือวัดนั้นไปสอบเทียบแล้ว

รูปที่2 บทความ สอบเทียบเครื่องมือวัด

องค์ประกอบในการสอบเทียบเครื่องมือวัด

สำหรับการสอบเทียบเครื่องมือวัด มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 อย่างที่ต้องคำนึงถึงได้แก่

1. การเลือกเครื่องมือวัดอ้างอิง

เครื่องมือวัดอ้างอิงเป็นเครื่องมือมาตรฐานเพื่อให้เครื่องวัดที่นำมาสอบเทียบได้ใช้เปรียบเทียบ โดยเครื่องวัดอ้างอิงนี้จะต้องมีความถูกต้องสูงกว่าเครื่องมือที่นำมาสอบเทียบ 3 เท่าขึ้นไป และที่สำคัญคือเครื่องมือวัดอ้างอิงจะต้องสามารถสอบกลับได้ (Traceability) สู่มาตรวัดมาตรฐานหรือหน่วยมูลฐาน SI Unit

2. วิธีการสอบเทียบที่เหมาะสม

การเลือกวิธีสอบเทียบที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องจากการสอบเทียบ รวมถึงได้รับความสะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการสอบเทียบ

3. สภาวะแวดล้อมของห้องปฏิบัติการสอบเทียบ

ห้องปฏิบัติการสอบเทียบมีผลต่อประสิทธิภาพและความถูกต้องของผลการสอบเทียบ จึงจำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการควบคุมในเรื่องความชื้น อุณหภูมิ แสงสว่าง รวมถึงการสั่นสะเทือนด้วย

นอกจากปัจจัยด้านการควบคุมสภาวะแวดล้อมแล้ว ขนาดของห้องก็จะต้องสัมพันธ์กับจำนวนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้วย เช่น ถ้ามีเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ 2 คน ห้องควรมีขนาดอยู่ที่ 4 x 3 เมตร โดยควบคุมอุณหภูมิ 18 – 28 ºC (หรือ 23±5ºC) และความชื้นสัมพัทธ์ 45-75%RH (หรือ 60±15 %RH)

4. บุคลากรผู้ทำหน้าที่สอบเทียบ

บุคลากรผู้ทำหน้าที่สอบเทียบจะต้องได้รับการศึกษาอบรม และเก็บสะสมประสบการณ์จนถึงเกณฑ์ที่สามารถให้ผลสอบเทียบที่ถูกต้องตามมาตรฐานได้ ซึ่งนอกจากหน้าที่ในการสอบเทียบให้ถูกต้องแล้ว พวกเขาต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานค่าความไม่แน่นอนของการวัดออกมาได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

สรุปบทความ

หนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับผลการวัดในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือวัด เครื่องมือทดสอบ รวมถึงผลการวิเคราะห์ต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผลการวัดจะต้องเชื่อถือได้ ให้ความแม่นยำและเป็นมาตรฐานสากล

ทำให้การสอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิต เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาความถูกต้องและความแม่นยำให้กับเครื่องมือวัดตามมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งการสอบเทียบเครื่องมือวัดที่เหมาะสมควรได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025

บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดจากสุมิพล

สุมิพลให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดในห้องปฎิบัติการ และบริการซ่อมเครื่องมืดวัด ครบและจบในที่เดียว ซึ่งได้การรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และให้ซ่อมด้วยมาตรฐานของผู้ผลิตมิตูโตโย และตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แห่งเดียวของประเทศ

Sumipol-Calipers-ebook