ปัจจุบันมีการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างทั้งขนาดและรูปร่าง เพื่อช่วยสร้างความหลากหลายและเพิ่มยอดขายในตลาด ส่งผลต่อการแข่งขันผลิตที่ต้องใช้ความเร็วในการผลิตที่มากขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีการผลิตด้วยเครื่อง CNC ที่สามารถทำงานได้ด้วยระบบอัตโนมัติผ่านคำสั่งของโปรแกรมที่ตั้งค่าไว้มาช่วยในขั้นตอนการผลิต เพื่อความรวดเร็วในขั้นตอนการผลิต

ประสิทธิภาพของเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ในอุตสาหกรรมนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความถูกต้อง และเที่ยงตรงสูงในการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อน โดยสามารถผลิตสินค้าที่ต้องการได้หลายชิ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว และทุกชิ้นมีความเหมือนกันทุกประการตามมาตรฐานการออกแบบ

ถ้าคุณกำลังวางแผนที่จะเลือกซื้อเครื่อง CNC บทความนี้จะช่วยแนะนำ 7 เทคนิคการเลือกเครื่อง CNC เพื่อนำไปใช้กับเครื่องจักรกลที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

7 เทคนิคการเลือกเครื่อง CNC ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

1. เลือกจากชนิดของการทำงาน

เครื่อง CNC ใช้ในการควบคุมการทำงานทั้งเครื่องกัด เครื่องกลึง ไปจนถึงเครื่องจักรอื่นๆ ที่ช่วยในการสร้างชิ้นงาน ซึ่งจะมีรูปแบบของคำสั่งในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากเครื่องจักรที่แตกต่างกันจะมีองค์ประกอบของชิ้นส่วนที่ต่างกัน ทำให้สิ่งแรกที่ต้องทำในการเลือกซื้อเครื่อง CNC คือเลือกให้เหมาะกับการนำไปใช้งาน เพื่อให้การลงทุนกับเครื่องนี้มีความคุ้มค่า

2. เลือกจากระบบการทำงาน

สมัยก่อนการเลือกซื้อเครื่อง CNC 1 เครื่อง คุณจะพบว่าเครื่องนี้มีระบบการทำงานมากมายให้เลือกใช้ ซึ่งยิ่งในเครื่องที่มีระบบให้เลือกใช้งานมาก ก็ส่งผลต่อราคาของเครื่องที่สูงมากขึ้น แต่ในปัจจุบันมีการผลิตเครื่อง CNC ที่มีระบบการทำงานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น สำหรับการกลึง หรือการกัดโดยเฉพาะ ทำให้เครื่องมีราคาที่ถูกลงและยังสามารถนำไปใช้ได้ตรงกับความต้องการด้วย

ผู้ผลิตหลายเจ้าในปัจจุบันมีระบบการผลิตที่หลายหลากและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แล้วจะเลือกระบบการทำงานของเครื่อง CNC อย่างไรให้เหมาะสม?

หลักการเลือกระบบการทำงานของเครื่อง CNC ได้แก่

  • อัตราการผลิตสูงโดยส่งผลต่อการผลิตชิ้นงานคุณภาพได้มาก
  • มีการใช้งานและการบำรุงรักษาที่สะดวกสบาย
  • อายุการใช้งานของระบบยาวนาน  

นอกเหนือจากนี้แล้วระบบการควบคุมเครื่อง CNC ยังต้องสามารถพัฒนาได้จากผู้ดูแลระบบการทำงาน รวมถึงมีฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายให้เลือกใช้ เช่น การประมวลผล การวัดขนาด การวางโปรแกรม เป็นต้น

3. เลือกจากความแม่นยำ

ในการทำงานโดยปกติของเครื่อง CNC จะมีเครื่องมือตรวจสอบความแม่นยำอยู่ 20 – 30 ชนิด แต่เครื่องมือที่ใช้โดยปกติแล้วมีอยู่  3 ชนิด ได้แก่

  1. เครื่องตรวจความแม่นยำแบบแกนเดี่ยว (Single-Axis Positioning Accuracy)
  2. เครื่องตรวจความแม่นยำซ้ำแบบแกนเดี่ยว (Single-Axis Repeat Positioning Accuracy)
  3. เครื่องทดสอบความกลมด้วยการทำงานแบบ 2 แกน (Roundness Machining by Above Two-Axis)

โดยการตรวจสอบทั้ง 3 รูปแบบนี้จะเป็นการเคลื่อนที่ไปตามแนวแกนของชิ้นงาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและแม่นยำหลังจากผ่านเครื่อง CNC แล้ว ว่าทำงานได้ถูกต้องตามคำสั่งหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการเลือกเครื่อง CNC ที่ใช้งานไม่เหมาะกับความต้องการใช้งานได้

4. เลือกจากความเฉพาะเจาะจงของชิ้นงาน

ในกระบวนการผลิตที่ต้องการชิ้นงานที่มีความซับซ้อน เช่น การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานของเครื่อง CNC เพื่อช่วยให้ผลิตชิ้นงานที่เหมือนกันทุกชิ้น

โดยเครื่อง CNC สามารถนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานทั้งการกัด การกลึง การตัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกลที่มี 3-5 แกน หรือ 2-8 แกน ไปจนถึงเครื่องมีที่มีแกนหมุนหลากหลาย (Muti-Spindle) ที่ใช้ในการผลิตชิ้นงานตั้งแต่แบบมาตรฐานไปจนถึงงานที่มีความซับซ้อนสูง

ทำให้การเลือกเครื่อง CNC จากความเจาะจงของชิ้นงานเป็นหนึ่งข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งถ้าคุณเลือกเครื่องจักรที่มีความสามารถเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเลือกเครื่องจักรที่มีความสามารถต่ำเกินไปก็จะทำให้ชิ้นงานออกมาคุณภาพต่ำเช่นเดียวกัน

5. เลือกจากวัสดุของชิ้นงาน

ในกระบวนการผลิตจะมีวัสดุหลายชนิดที่นำมาสร้างเป็นชิ้นงาน เช่น อลูมิเนียม ทองแดง เหล็กกล้า ไทเทเนียม ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแข็งที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การออกแบบติดตั้งเครื่อง CNC เปลี่ยนไปตามการใช้งาน โดยการติดตั้งที่แตกต่างกันออกไปจะมีผลต่อการทำงานทั้งในเรื่องของความเร็ว การหมุน รวมถึงแรงที่ใช้ในการทำงานด้วย

6. เลือกจาก SWaP

SWaP ย่อมาจาก Space, Weight, Power ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในการวางเครื่องมือ น้ำหนักที่รับได้ และพลังงานที่เครื่องต้องใช้

Space พื้นที่ในการจัดวาง

  • การเลือกขนาดของเครื่อง CNC รวมถึงอุปกรณ์ควบคุม มีผลต่อพื้นที่ที่ใช้วางในโรงงานด้วย จึงต้องคำนวณขนาดของพื้นที่ที่ต้องการวางเครื่องให้ดีก่อน
  • ช่องว่างระหว่างการเดินควบคุมของเจ้าหน้าที่ ว่าสามารถเดินได้อย่างสะดวกจากการควบคุมเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งหรือไม่
  • พื้นที่ที่ใช้วางเครื่องมีความปลอดภัยหรือไม่ ทั้งในลักษณะของโครงสร้าง การรับน้ำหนักเครื่อง รวมถึงการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อเจ้าหน้าที่

Weight น้ำหนักที่รับได้

การเลือกเครื่องที่มีน้ำหนักมากเหมาะกับการวางบนพื้นที่มีความแข็งแรงสูง และสามารถเคลื่อนย้ายได้ในอนาคต ส่วนเครื่องที่มีน้ำหนักเบาเหมาะกับการใช้ในอุตสาหกรรมขนาดเล็กมากกว่า

Power พลังงานที่เครื่องต้องใช้

เนื่องจากเครื่องจักรต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก สถานที่ติดตั้งควรมีกำลังไฟที่เพียงพอต่อการส่งให้เครื่องจักรใช้ในการทำงานด้วย

7. ความพร้อมของผู้ควบคุมการทำงาน

สำหรับการควบคุมการทำงานของเครื่อง CNC จะมีคอนโทรลเลอร์เป็นตัวควบคุม โดยสามารถเขียนคำสั่งหรือเพิ่มเงื่อนไขของการทำงานตามความต้องการของผู้ควบคุมได้ ซึ่งการควบคุมคอนโทรลเลอร์จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมคำสั่งของเครื่อง CNC

เมื่อลงทุนไปกับเครื่อง CNC แล้วจะต้องมีเจ้าหน้าที่หรือวิศวกรมีควบคุมการทำงานของเครื่องเพื่อให้การทำงานของเครื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ

สรุปบทความ

เครื่อง CNC เป็นหนึ่งเครื่องจักรกลที่ควบคุมทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ควบคุมได้ทั้งเครื่องกัด เครื่องบด เครื่องเจาะ เครื่องกลึง ให้สามารถทำงานที่มีความซับซ้อนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ก่อนการเลือกซื้อเครื่องนี้จึงต้องเข้าใจเทคนิคการเลือกซื้อให้ดีก่อน เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีราคาค่อนข้างสูง ถ้าเลือกเครื่อง CNC ได้ถูกต้องตามประเภทของการใช้งานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างยิ่ง

ถ้าคุณสนใจรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ ทางเราพร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่ ด้วยการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้านเครื่องมือและเครื่องจักรกลคุณภาพสูง

Sumipol-checklist-micrometers