ความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ AEC  ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นั้นประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ถ้าหากพิจารณาหลาย ๆ ด้าน จะพบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และคุณภาพของแรงงาน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สิ่งนี้อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

สาเหตุของปัญหาแรงงาน

ภาคการผลิตของไทยไม่เพียงแต่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น ยังมีเรื่องคุณสมบัติของพนักงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผลการศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกพบว่า ธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากถึง 38.8% ประสบปัญหานี้ อัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนคือ 12.6% โดยอินโดนีเซียประสบปัญหานี้ในระดับต่ำสุดเพียง 4.5% ซึ่งต้นตอที่สำคัญของปัญหานี้ คือ ระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทิศทางการศึกษา

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ แม้ว่าได้ขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีจาก 9 ปีเป็น 12 ปีแล้ว ซึ่งควรจะมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ด้วยค่านิยมดั้งเดิมที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา นำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต 

ถึงแม้นโยบายด้านการศึกษาจะไม่มีความชัดเจน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหานี้ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด จากความพยายามในการจัดตั้งหลักสูตรปริญญา ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ร่วมมือกับบริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จัดตั้งหลักสูตรมาตรวิทยา (Metrology) ในโรงเรียนมัธยมและสถาบันอาชีวศึกษาได้สำเร็จ

เรื่องน่ายินดีที่ในปี พ.ศ. 2555 ได้มีหลักสูตรเกี่ยวกับมาตรวิทยา (Metrology) และการศึกษาที่มีคุณภาพในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (SSRU)

อนาคตของอุตสาหกรรมไทย

ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปีในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยได้เรียนรู้มากมายจากปัญหาที่ประสบ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนและกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับอนาคต หลายคนเข้าใจว่าภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่รับงานรับเหมา และสร้างผลตอบแทนจากต้นทุนแรงงาน ในความเป็นจริงภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีการเติบโตและพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ

การกำหนดจุดยืนและเป้าหมายที่ชัดเจน สำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก

–    ประเทศสิงคโปร์เป็นแบบอย่างที่ดี ถึงแม้จะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ สิงคโปร์ได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้นำระดับโลกในการบริหารจัดการท่าเรือ

–     ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศที่กำหนดบทบาทของตนในอนาคตไว้อย่างชัดเจน การต้องเผชิญกับข้อจำกัด ด้านทรัพยากร ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรวัยทำงานขาดแคลน ทั้งหมดนี้ทำให้การย้ายฐานการผลิตเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ในขณะที่ยังสามารถรักษาความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีการผลิตได้

สำหรับประเทศไทยเรามีทรัพยากรอย่างล้นเหลือ โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับลักษณะเฉพาะของคนไทยที่เป็นมิตรและยินดีต้อนรับผู้คนจากทุกชาติ เราจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการผลิต และสามารถสร้างมูลค่าจากการผลิตได้เช่นกัน เพื่อที่จะเป็นผู้นำในด้านนี้ เราต้องจริงจังในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

แรงงานฝีมือของไทยนั้นไม่เป็นสองรองใครในโลก ถึงแม้ว่าพนักงานของเราจะมีความสามารถที่ยอดเยี่ยม แต่เมื่อพูดถึงการปฏิบัติจริง พบว่าไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนให้เป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตได้เต็มที่ 

ด้วยเหตุนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (DSD) จึงได้จัดทำโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานรวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมด้านไอที ภาษาอังกฤษ และพฤติกรรมสำคัญ 9 ประการ

  • หลักสูตรภาษาอังกฤษ จะเน้นที่ความสามารถในการสื่อสารมากกว่าไวยากรณ์
  • หลักสูตรไอทีและคอมพิวเตอร์หลักสูตรมีตั้งแต่โปรแกรมง่ายๆเช่นการป้อนข้อมูล ไปจนถึงมืออาชีพเช่นคอมพิวเตอร์กราฟิก ออกแบบเว็บไซต์ และซ่อมคอมพิวเตอร์
  • หลักสูตรฝึกยกระดับฝีมือ 9 พฤติกรรม 9 สู่ความสาเร็จ ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ การมีระเบียบวินัย ความขยันและอดทน การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ ความไฝ่เรียนรู้ การประหยัด และความปลอดภัย

การปรับปรุงพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบจากการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐบาล

ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ

ตามกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (DSD) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 – 2554 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ลงนาม 68 ข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ การแข่งขันฝีมือแรงงาน

โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2553 โดยมีการแข่งขันทักษะมาตรวิทยามิติของนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ในปี 2554 ทีมงานยังจัดทำโครงการฝึกอบรมมาตรวิทยามิติสำหรับครูอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ทั้งนี้ทั้ง 5 ฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อเปิดตัวกิจกรรม เพื่อการยกระดับทักษะด้านมาตรวิทยาของประเทศไปสู่ระดับสากล

สรุป

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศ แม้ว่าเราจะผ่านการปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้งก็ตาม แต่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศได้บางทีสิ่งที่เราต้องปฏิรูป คือ ค่านิยมและทัศนคติทางสังคมของเรา ความคิดของพ่อแม่ต้องเปลี่ยนไป จากการที่ปลูกฝังให้ลูก ๆ จะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้น ควรส่งเสริมให้พวกเขาศึกษาทักษะที่เหมาะสมและเลือกสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้วย