เมื่อเรานึกถึงการวัดเปรียบเทียบ อุปกรณ์ที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เครื่องมือวัดพื้นฐาน (Dimension) ที่ควรมี ในภาคอุตสาหกรรม ให้การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และช่วยควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน


เราจะนำคุณมารู้จักกับ
“ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์” ให้มากขึ้นทั้งส่วนประกอบ หลักการทำงาน เหมาะกับงานวัดแบบไหน รวมไปถึงวิธีการใช้งาน  บทความนี้มีคำตอบ 

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ คืออะไร?

ทำความรู้จัก ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ คืออะไร? เหมาะกับงานวัดแบบไหน?

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ (Dial Test Indicator / lever arm test indicator)

หรือนาฬิกาวัดเปรียบเทียบ และเป็นที่รู้จักกันในอีกหลายชื่อ เช่น ไดอัลเกจแบบคันโยก หรือ ไดอัลเกจแบบเข็มกะดก 

คือ อุปกรณ์การวัดที่มีหน้าปัดและสเกลคล้ายกับนาฬิกา มีหัวสัมผัสวัด และแกนวัดเป็นลักษณะคานยื่นออกมาจากชุดนาฬิกาวัด เพื่อทำการวัดและตรวจสอบ

เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการผลิต  ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ถูกใช้ในงานวัดที่ละเอียดมาก เพื่อให้แน่ใจว่าชิ้นงานผลิตหรือประกอบอย่างถูกต้อง


ส่วนประกอบของ ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ 

ส่วนประกอบของไดอัลเทสอินดิเคเตอร์

เข็มชี้ (Pointer) เมื่อหัววัดสัมผัสชิ้นงานแล้ว เข็มชี้จะวิ่งไปเพื่อบอกค่าความคลาดเคลื่อนของชิ้นงาน

สเกล (Scale) บนแผ่นสเกลจะมีลักษณะคล้ายกับหน้าปัดนาฬิกา โดยจะมีสเกลแบ่งเป็น 100 ช่อง เมื่อเข็มยาวหมุนไปครบ 1 รอบจะอ่านค่าได้ 1 มิลลิเมตร

ขอบหน้าปัด (Bezel) บริเวณที่จับเพื่อหมุนหน้าปัดเพื่อให้สเกลบนหน้าปัดตรงกับเข็มยาวของ นาฬิกา

ร่องหางเหยี่ยว (Dovetail) สำหรับเชื่อมเข้ากับก้านต่อสำหรับจับยึด หรือขาตั้ง 

แกนหมุน (Pivot)  ส่วนที่เป็นบานพับต่อกับสไตลัส และตัวเครื่อง

สไตลัส (Stylus) หรือเข็มวัด  ส่วนที่อยู่ระหว่างหัววัดและแกนหมุน จะแกว่งซ้าย-ขวา ในขณะทำการวัด

หัววัด (contact point) เป็นส่วนที่สัมผัสกับชิ้นงานเพื่อทำการวัด

ก้านต่อ (Stem) ชุดอุปกรณ์สำหรับต่อเข้ากับไดอัลเทสเพื่อจับยึดในทิศทางต่างๆ ทั้งด้านบน ด้านข้าง หรือปลาย

ก้านต่อไดอัลเทสอินดิเคเตอร์

หลักการทำงาน

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ ทำงานโดยการวัดระยะการเบี่ยงเบนของสไตลัส เมื่อหัววัดสัมผัสกับวัตถุจะทำให้สไตลัสแกว่งเป็นแนวโค้งรอบจุดบานพับ หรือ แกนหมุน ทำให้กลไกภายในทำงาน 

สไตลัสเปลี่ยนได้

 

 

สไตลัส (Stylus)  สามารถเปลี่ยนให้ยาวขึ้นได้ สำหรับวัดความยาว หรือ วัดเส้นผ่านศูนย์กลางชิ้นงานรูปทรงกลม ช่วยให้สามารถทำการวัดในร่องแคบ และรูเล็ก ๆ ที่ตัวเครื่องของไดอัลเทสไม่สามารถเข้าไปถึง

 

ชุดขาตั้งไดอัลเทสอินดิเคเตอร์

 

 

 

การใช้งานไดอัลเทสโดยส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกันกับชุดขาตั้ง 
เพื่อความแม่นยํา และความนิ่งของอุปกรณ์ขณะทําการวัด

เมื่อใช้ร่วมกับ วีบล็อค (V-blocks) หรือ คู่หัวยันศูนย์ (Centers) สามารถใช้ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ เพื่อทดสอบความกลมหรือค่า runout ของชิ้นส่วนทรงกระบอกได้


เหมาะกับงานวัดแบบไหน?

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์จะไม่ได้ใช้วัดโดยตรง เช่น ความยาว หรือ ความกว้าง เหมือนกับคาลิเปอร์ หรือไมโครมิเตอร์ แต่จะใช้วัดความแตกต่างระหว่างงานที่ต้องการ และลักษณะชิ้นงานที่เกิดขึ้นจริง กล่าวง่ายๆ คือ

  • หากจะหาว่าชิ้นงานนี้สูงเท่าไหร่ ต้องใช้สเกลวัด หรือ คาลิเปอร์
  • หากจะหาว่าชิ้นงานนี้สูงเท่าไหร่เมื่อเทียบกับอีกชิ้นหนึ่ง ต้องใช้อินดิเคเตอร์

ออกแบบมาเพื่อตรวจวัดพื้นผิวที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยไดอัลเกจทั่วไป เนื่องจาก มีหัววัดขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนตัวได้ ง่ายต่อการปรับมุมอย่างอิสระ มีค่าความละเอียดและความแม่นยำสูง เหมาะกับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น

การวัดแบบเปรียบเทียบในพื้นที่แคบ 

  • การวัดพื้นที่แคบและเว้านูนยากต่อการวัด 
  • ภายในและภายนอกเส้นผ่าศูนย์กลาง

การวัดงานที่มีการเคลื่อนที่ 

  • การวัดความเรียบผิวของลูกสูบ 
  • ตรวจสอบความเรียบ ตรวจสอบความขนาน
  • วัดความเบี่ยงเบนเมื่อหมุน (Runout) ของชิ้นงาน

การวัดความเที่ยงตรงของชิ้นงาน

  • ใช้เพื่อทดสอบชิ้นส่วนสำหรับการหมุนหนีศูนย์ และการบิดเบือนของพื้นผิว
  • วัดความเยื้องศูนย์ของชิ้นงาน
  • การวัดความร่วมศูนย์หรือความร่วมแกน (Concentricity or Coariality) ของชิ้นงาน
  • หาศูนยร์ูในของชิ้นงานทรงกระบอก

การวัดตั้งค่าเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องกลึง


วิธีการใช้งาน  

ขั้นตอนที่ 1  : การปรับเทียบ เซตอุปกรณ์

  1. การเริ่มใช้งานไดอัลเทสจะต้องทำการติดตั้งเอาไว้บนขาตั้ง หรืออุปกรณ์จับก่อนทำการวัด ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกันเป็นเซต แต่ก็สามารถใช้อุปกรณ์จับอื่นที่มีอยู่แล้วได้
  2. หลังจากยึดไดอัลเทสไว้กับขาตั้งแล้ว อุปกรณ์จะมีความเสถียรเต็มที่
  3. แล้วจะต้องปรับให้เข็มชี้บนหน้าปัดไดอัลเทส ชี้ไปที่เลขศูนย์
  4. ปรับหน้าปัดโดยหมุนขอบหน้าปัด (Bezel) จนเข็มชี้อยู่เหนือเลขศูนย์พอดี เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการวัด

**ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ไดอัลเทส คือ ส่วนหัววัดจะต้องขนานกับพื้นผิววัสดุที่ต้องการวัดและอยู่ในทิศทางการวัดมุมที่เหมาะสม ตามภาพ

ทำความรู้จัก ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ คืออะไร? เหมาะกับงานวัดแบบไหน?

ขั้นตอนที่ 2 เริ่มกระบวนการวัด และอ่านผลลัพธ์บนหน้าปัดไดอัลเทสอินดิเคเตอร์

  1. กดส่วนปลายของเข็มวัดหรือจุดสัมผัส กับพื้นผิวของชิ้นงานที่ต้องการวัด
  2. ล็อคไดอัลเทสให้เข้าที่ และเริ่มอ่านค่าบนหน้าปัดขณะชิ้นงานหมุน
  3. เมื่อหัววัดสัมผัสชิ้นงาน เข็มชี้จะเคลื่อนที่ เมื่อตรวจพบการเบี่ยงเบนหนีศูนย์ หรือความผิดปกติบนพื้นผิว

ขั้นตอนที่ 3 การอ่านค่าของไดอัลเทสอินดิเคเตอร์

  1. ขณะชิ้นงานกำลังหมุน ให้สังเกตตำแหน่งซ้ายสุดที่เข็มชี้เคลื่อนจากจุดศูนย์
  2. จากนั้น หมุนขอบหน้าปัดเพื่อให้จุดศูนย์อยู่ในแนวเดียวกับเข็มชี้
  3. ทำการหมุนชิ้นงานอีกครั้ง และสังเกตตำแหน่งขวาสุดที่เข็มชี้เคลื่อนไปจากจุดศูนย์

ค่าใหม่นี้จะแสดงจำนวนการเคลื่อนที่ทั้งหมด และเท่ากับการบิดเบี้ยวของพื้นผิวหรือค่าความเบี่ยงเบนปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ อาจเจอการวัดที่เข็มชี้หมุนหลายรอบ ผู้วัดจะต้องนับจำนวนรอบที่เกิดขึ้น และดูตำแหน่งสุดท้ายที่เข็มชี้หยุด

การนับรอบจะง่ายขึ้นอย่างมาก หากไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ที่ใช้มีเข็มสั้น (Short Pointer) ในหน้าปัด ที่เป็นเข็มวัดรอบของเข็มยาวว่าเคลื่อนที่ไปแล้วเป็นระยะเท่าไร

โดยเมื่อเข็มยาวเคลื่อนที่ไปทุก 1 รอบเข็มสั้นจะเพิ่มขึ้นทีละ 1 ซึ่งมีหน่วยเป็น มิลลิเมตร เมื่อเข็มยาวบนหน้าปัดหมุนไปครบ 1 รอบแล้ว เข็มสั้นที่อยู่สเกลเล็กจะเพิ่มขึ้นทีละ 1 ซึ่งมีหน่วยเป็น มิลลิเมตร  เข็มสั้นจะวิ่งในทิศทวนเข็มนาฬิกา โดยตัวเข็มสั้นจะมีสเกลอยู่ที่ 1-10 หรือวัดได้สูงสุดที่ 1 เซ็นติเมตรนั่นเอง

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ คืออะไร? เหมาะกับงานวัดแบบไหน?

สรุป

ไดอัลเทสอินดิเคเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดละเอียด ที่มีใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน ควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน การทำความเข้าใจขั้นตอนในการใช้ หลักการทำงาน และการอ่านค่าที่ถูกต้องจึงเป็นกุญแจสำคัญ

นอกจากนี้ การเลือกใช้เครื่องมือวัดละเอียด ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรองรับของเครื่องมือวัด ที่ให้ผลลัพธ์การวัดที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ของเครื่องมือที่เลือกใช้ เพื่อเป็นพื้นฐานของการควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพอยู่เสมอ

ถ้าคุณสนใจรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ ทางเราพร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่ ด้วยการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้านเครื่องมือและเครื่องจักรกลคุณภาพสูง

บริการด้านการวัดจากสุมิพล

สุมิพลให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือวัดแบรนด์ Mitutoyo ที่เหมาะสมกับโจทย์การผลิตและงบประมาณของลูกค้า พร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ากับระบบควบคุมการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น

ถ้าคุณสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของสินค้าหรือบริการจากเรา คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ หรือ Call Center 02-7623000 เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเครื่องมือที่พร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่