การกำหนดและตรวจสอบความลึกของชิ้นงาน เป็นสิ่งสำคัญมากในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งต้องมีรูปร่างและขนาดที่สัมพันธ์กันทุกส่วน  เพื่อให้สามารถประกอบกันได้อย่างพอดี ไม่คลาดเคลื่อน
“Depth gauge” จึงมีบทบาทสำคัญอย่างขาดไม่ได้เป็นหนึ่งใน 5 เครื่องมือวัดพื้นฐานที่ควรมีในภาคอุตสาหกรรม 

บทความนี้จะนำคุณไปรู้จักกับ เครื่องมือวัดความลึกสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต การใช้งานเบื้องต้น ลักษณะ ประเภท และวิธีเลือกเกจวัดความลึกให้เหมาะกับการใช้งาน

DEPTH GAUGE คืออะไร? 


Depth Gauge หรือ เกจวัดความลึก เป็นเครื่องมือวัดที่มีความแม่นยำ สำหรับวัดความลึกของรูเจาะ รูคว้าน รูน็อต ความลึกของบ่างาน ร่องลึกต่างระดับ ความเว้าของช่อง และความสูงของชิ้นส่วนอุปกรณ์  

ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญเกือบทุกประเภท ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือ แม่พิมพ์ ไปจนถึงเครื่องมือผ่าตัดและเซรามิก

โดยในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งแบบดิจิตอลที่แสดงค่าจากการวัดออกมาได้โดยที่ไม่ต้องคำนวณค่าและแบบอนาล็อก

ลักษณะของเกจวัดความลึก


เกจวัดความลึก  แต่ละประเภทจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ 3 ส่วน คือ 

  • ส่วนฐาน หรือ สะพานยัน (ฺBase) เพื่อวางเกจวัดความลึกบนพื้นผิวของชิ้นส่วนที่กำลังวัด
  • ส่วนเลื่อน หรือ แกนวัดลึก (Measuring Rod) ส่วนที่ใส่ลงไปในรู/ช่อง เพื่อเลื่อนวัดความลึกของชิ้นงาน อาจมีลักษณะเป็นแท่งวัด หรือเป็นใบแบบไม้บรรทัด
  • ส่วนแสดงผลค่าความลึก ไม่ว่าจะเป็นหน้าปัดไดอัล จอ LCD แสดงผลแบบดิจิตอล สเกลเวอร์เนียร์ หรือ ไมโครมิเตอร์

วิธีการใช้งาน DEPTH GAUGE


ขั้นตอนการใช้เกจวัดความลึก

  1. วาง Depth Gauge บนพื้นผิวเรียบหรือแท่นระดับ แล้วเซ็ตศูนย์
  2. เลื่อนแกนวัดลึกให้มีความยาวน้อยกว่าความลึกที่จะวัดเล็กน้อย
  3. วางฐานสะพานยันลงมาจนผิวแนบงานสัมผัสสัมผัสพอดีกับบ่างาน
  4. ค่อยๆ เลื่อนแกนวัดลึกลงมาสัมผัสกับก้นรู และล็อคสกรูล็อค
  5. อ่านค่าความลึกของรู


และเพื่อให้ได้ค่าความลึกที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามกฎพื้นฐาน ดังนี้:

  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าฐาน หรือ สะพานยัน (ฺBase) ส่วนที่สัมผัสกับชิ้นงานนั้นสะอาด เรียบ และไม่มีรอยบุบหรือเสี้ยน
  • ระมัดระวังการสัมผัสของสะพานยันให้ราบไปกับผิวของชิ้นงาน และไม่ให้สัมผัสกันรุนแรงหรือแน่นเกินไป
    ซึ่งจะทำให้ผิวสัมผัสงานเสียหายได้ 
  • ควรทำการวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

ประเภทของเกจวัดความลึก


เกจวัดความลึกมีหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งประเภทหลักที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 


Vernier depth gauges – เวอร์เนียร์วัดลึก

Vernier depth gauges – เวอร์เนียร์วัดลึก

เวอร์เนียร์วัดลึก เป็นเกจวัดความลึกที่ใช้สเกลเวอร์เนียร์ การใช้งานเช่นเดียวกับการใช้เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ แตกต่างกันที่เวอร์เนียร์วัดลึก สเกลหลักจะเป็นตัวเลื่อนขึ้น-ลง ผ่านฐาน ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถอ่านค่าความลึกโดยตรงจากสเกลเวอร์เนียร์ที่อยู่บนฐานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

อ่านเพิ่ม : วิธีการอ่านค่าผลการวัดเครื่องมือในระบบสเกล


ปลายวัดมีหลายรูปทรงให้เลือกใช้ มีช่วงการวัดที่กว้างโดยไม่ต้องใช้แท่งต่อขยายเมื่อเปรียบเทียบกับไมโครมิเตอร์ความลึก แต่ที่ส่วนเลื่อนของเวอร์เนียร์วัดลึก มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับการวัดรูขนาดเล็ก

ปลายวัดเวอร์เนียร์วัดลึก

การวัดด้วยเวอร์เนียร์วัดลึก ให้ความสะดวกรวดเร็ว มีค่าผิดพลาดน้อย และได้ค่าวัดที่ละเอียดปานกลาง  มีความคล่องตัวกว่าไมโครมิเตอร์วัดลึก เนื่องจากไมโครมิเตอร์วัดลึกอ่านค่ายาก และที่สำคัญมีราคาสูงกว่า


ค่าความละเอียด

  • ประเภทอนาล็อก (Analog) 0.02 mm
  • ประเภทดิจิตอล (Digital)  0.01 mm


Dial depth gauges – ไดอัลเกจวัดลึก 

Dial depth gauges - ไดอัลเกจวัดลึก

ไดอัลเกจวัดลึก  มีลักษณะเป็นหน้าปัดแบบไดอัล ต่อกับสะพานยันและแกนวัดลึก สามารถอ่านค่าได้โดยตรง และใช้หลักการเดียวกันกับการอ่านไดอัลอินดิเคเตอร์ทั่วไป 

แกนวัดลึกเป็นแบบแท่งเคลื่อนที่ขึ้น-ลง แบบลูกสูบ มีก้านต่อขยาย (Extension rod) ใช้สำหรับหลุมลึกและช่วงการวัดที่กว้างขึ้น

ค่าความละเอียด

  • ประเภทอนาล็อก (Analog) 0.01 mm
  • ประเภทดิจิตอล (Digital) 0.001 mm

การวัดความลึกที่มีช่วงการวัดมากกว่า 25 มม.  

ให้เพิ่มจำนวน Extension rod ให้เหมาะสมตามความลึกที่ต้องการวัด

ควรใช้ Master gage เช่น เกจบล็อค เพื่อดำเนินการ ปรับค่าศูนย์ (Set Zero) ใหม่

กรณีที่ต่อก้านเพิ่ม การอ่านค่าที่ได้จะต้องบวกรวมกับค่าความยาวของก้านวัดลึกที่เลือกใช้ด้วย

ไดอัลเกจวัดลึก (Dial depth gauges)


Depth micrometers – ไมโครมิเตอร์วัดลึก

Depth gauge micrometers - ไมโครมิเตอร์วัดลึก

ไมโครมิเตอร์วัดลึก เป็นเกจวัดความลึกที่ใช้ Spindle ของไมโครมิเตอร์ เป็นแกนวัดลึก ช่วยให้สามารถใส่ในรูเล็กได้  ถ้าเปรียบกับเวอร์เนียร์วัดลึกแล้ว ไมโครมิเตอร์วัดลึกจะให้ค่าวัดละเอียดถูกต้องสูงกว่า

ไมโครมิเตอร์วัดลึก (Depth gauge micrometers)

แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงการวัดของแกนวัดนั้นมีจำกัด ดังนั้นสำหรับรูลึก จึงจำเป็นต้องมีการต่อขยาย และปรับเทียบด้วย Master gauge  เช่น เกจบล็อค หรือ Depth Micro Checker

เมื่อใช้ส่วนต่อขยาย ต้องอย่าลืมเพิ่มความยาวของส่วนต่อขยายให้กับค่าการวัดที่แสดงบนไมโครมิเตอร์เสมอ

ค่าความละเอียด

  • ประเภทอนาล็อก (Analog)  0.01 mm
  • ประเภทดิจิตอล (Digital)  มีค่าความละเอียด 0.001 mm


Digital Depth Gauges – เกจวัดความลึกแบบดิจิตอล

ปัจจุบันโรงงานผลิตหลายแห่งเริ่มใช้อุปกรณ์วัดแบบดิจิตอลเพื่อทำให้ง่ายสำหรับคนงาน ซึ่งขาดความสามารถในการอ่านค่าการวัดละเอียดอย่างรวดเร็วจากไมโครมิเตอร์ หรือสเกลต่างๆ

เกจวัดความลึกแบบดิจิตอล จึงป็นรุ่นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถวัดค่าได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นผู้ใช้งานมือใหม่ มีความแม่นยำสูง อ่านค่าได้ละเอียดถึง 0.001 mm

มีลักษณะเหมือนเกจวัดความลึกแบบอนาล็อกรุ่นต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่เปลี่ยนส่วนแสดงผลเป็นจอแสดงผลแบบดิจิตอล แสดงค่าความลึกที่วัดได้โดยตรง 

  • เหมาะสำหรับวัดความลึกของรู ร่องแคบ และวัดเป็นขั้นบันได
  • แบบดิจตอลอ่านค่าง่าย ลดการผิดพลาดจากการอ่านแบบสเกล
  • สามารถส่งข้อมูลการวัดสู่คอมพิวเตอร์ด้วยอุปกรณ์เสริม 


7 คุณสมบัติสำคัญในการเลือก Depth Gauge


หลักการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม เพื่อวัดความลึกของชิ้นงาน มี 7 ประการที่ควรพิจารณาคุณสมบัติบางอย่างอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทหรือรุ่นของเกจวัดความลึกนั้น

  • ความยาวฐาน (Base length) – ขนาดของฐาน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้วางทาบบนผิวงาน ให้ตัวเกจวัดลึกตั้งได้ฉากกับผิวงาน และแสดงถึงระนาบอ้างอิงสำหรับการวัด

  • จำนวนก้านต่อความยาว (Measuring rod count) – เกจวัดความลึกบางรุ่นมีก้านแบบถอดเปลี่ยนได้หลายอัน สำหรับใช้เครื่องมือวัด ในช่วงความลึกของช่องที่กว้างขึ้น การเลือกก้านต่อ สอดคล้องกับความลึกโดยประมาณ ของช่องที่กำลังจะวัด

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของก้านวัด (Measuring rod diameter) – เป็นตัวบอกขนาดของก้านวัด (measuring rod)  ซึ่งต้องเลือกขนาดที่สามารถใส่เข้าไปในช่องที่จะวัดได้ สำหรับบรรทัดวัดลึก และเกจวัดความลึกประเภทอื่นๆ  ที่ใช้ขีดบรรทัด หรือสเกล ให้ดูที่ขนาดของความกว้างและความหนาของแผ่นสเกล เพื่อประกอบการพิจารณา

  • ความลึกในการวัดสูงสุด (Maximum measurement depth) – แสดงถึงค่าความลึกที่มากที่สุดที่เครื่องมือสามารถวัดได้ สำหรับเกจที่มีก้านแบบเปลี่ยนได้ ค่านี้อาจแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับก้านที่เลือกมาใช้งาน

  • ค่าความละเอียด (Resolution / Graduation) – ค่าความละเอียดที่อ่านได้จากเครื่องมือวัดความลึก เช่น 0.05 0.02 0.1 หรือ 0.001 mm. ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทและรุ่นของเกจที่เลือก

  • ช่วงการวัด (Measuring range) –  ระยะความลึกต่ำสุด-สูงสุด ที่อุปกรณ์นั้นสามารถวัดได้ 

  • หน่วยการวัด (Measurement scale) – เกจวัดความลึกโดยทั่วไป  อ่านค่าเป็นนิ้ว (inch) หรือมิลลิเมตร (millimeter) บางรุ่นที่มีทั้งสองแบบ สามารถเลือกเปลี่ยนหน่วยการวัดได้ 

สรุป


Depth gauge ใช้วัดและตรวจสอบความลึกของชิ้นงานที่ผลิต ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ถูกต้อง มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน แก้ปัญหาชิ้นงานเสีย (Defect) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ในงานอุตสาหกรรม ควรเลือกเครื่องมือวัดความลึกที่สามารถเชื่อมโยงค่าการวัดกับระบบการผลิตได้ เมื่อมีค่าความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ระบบการผลิตก็จะแก้ไขและปรับการทำงานโดยอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องอีกด้วย


ถ้าคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การวัด หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ ด้วยบริการให้คำปรึกษาจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เครื่องมือ และเครื่องจักรกลคุณภาพสูง พร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่

บริการด้านการวัดจากสุมิพล

สุมิพลให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือวัดแบรนด์ Mitutoyo ที่เหมาะสมกับโจทย์การผลิตและงบประมาณของลูกค้า พร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ากับระบบควบคุมการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น

ถ้าคุณสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของสินค้าหรือบริการจากเรา คุณสามารถติดต่อเราได้ที่นี่ หรือ Call Center 02-7623000 เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเครื่องมือที่พร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่